Saturday, June 11, 2011

ตำนานกาลทานสูตร

ตำนานกาลทานสูตร

อนุโมทนากถา กาลทานสูตร นี้เป็นบทพระพุทธมนต์อนุโมทนาแก่ผู้บริจาคทานตามกาล เป็นพิเศษ จะได้บรรยายถึงมูลเหตุแห่งมนต์บทนี้ เพื่อเจริญศรัทธาสัมมาปฏิบัติของทุกท่านที่ใคร่ธรรมก่อน ทั้งเพื่อเป็นวิทยาภรณ์ของธรรมจารีชนสืบไป เรื่องมีว่า
ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลาป่ามหาวัน แคว้นพระนครไพสาลี ประทานอนุสาสนีพุทโธวาทประสาธน์มรรคผล ให้สำเร็จแก่พุทธเวไนย ทรงประทานพรหมจรรย์แก่ผู้มีเสื่อมใสเป็นพิเศษ เพื่อให้บรรลุอจลเขตปฏิสัมภิทา ทรงเผยเกียรติคุณของพระศาสนา ให้รุ่งเรืองไพศาลเป็นพิเศษปลุกประชาสัตว์ให้ตื่นจากสรรพกิเลสนิทรา จึงประชาชนพากันเคารพบูชาและปฏิบัติดำเนิน โดยหยั่งเห็นเป็นคุณเครื่องจำเริญประโยชน์สุขทั้งภพนี้และภพหน้า
ครั้งนั้น สีหะเสนาบดี มีศรัทธา ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับโดยควรแก่โอกาส น้อมเศียรถวายอภิวาทแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหากรุณาธิคุณโลกนาถ พระองค์ยังจะทรงสามารถบัญญัติแสดงให้เห็นชัด ถึงผลทานในปัจจุบันนี้ทันตาเห็น ได้หรือไม่ พระเจ้าข้า
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่าสีหะ ตถาคตสามารถบัญญัติให้เธอรู้เห็นชัดในปัจจุบันทันตาเห็นได้ จงตั้งใจสดับ ท่านสีหะ อันคนผู้เป็นทานบดี คือเจ้าของทาน มิใจชื่นบานยินดีสละให้ ย่อมเป็นที่รักใคร่ ชอบใจของหมู่ชนเป็นอันมาก นี้เป็นผลในปัจจุบันข้อหนึ่ง
ท่านสีหะ ยังมีอีก คือ คนที่ยินดีสละให้นั้น ย่อมได้รับการคบหาสมาคมจากคนดี อัธยาศัยดี สงบเรียบร้อยทั่วไป คนดีทั้งหลายพอใจไปมาหาสู่อยู่ร่วม นี้เป็นผลในปัจจุบันข้อหนึ่ง
สีหะ ยังมีอีก เกียรติศัพท์ ชื่อเสียงอันดีของทานบดี ผู้ที่ยินดีสละให้ ย่อมฟุ้งขจ รไปไกล นี้เป็นผลทานในปัจจุบันข้อหนึ่ง
ท่านสีหะ ยังมีอีก หากว่า ทานบดี คนที่ยินดีสละให้ จะเข้าสู่สมาคมใด ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์,พราหมณ์ หรือ คหบดี หรือแม้สมณะ ย่อมจะองอาจ ไม่สะทกสะท้านเก้อเขินแต่ประการใด นี้เป็นผลทานในปัจจุบันข้อหนึ่ง
ท่านสีหะ ใช่ว่าผลทานจะสิ้นสุดอานุภาพในการให้ผลแก่ผู้บริจาคในปัจจุบันเพียงเท่านั้นก็หาไม่ เมื่อผู้บริจาคแตกกายทำลายขันธ์แล้ว ยังจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์อีก
ท่านสีหะเสนาบดีได้สดับพระพุทธโอวาทจบลงด้วยความปลาบปลื้มประกาศความเชื่อมั่นต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตนเป็นทั้งทายก เป็นทั้งทานบดี คือ เป็นทั้งผู้ให้ทาน และเป็นเจ้าของทานด้วย ถวายอภิวาทกระทำปทักษิณแล้ว กลับคืนนิเวศน์ของท่าน
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ทรงแสดงกาลทานแก่ ภิกษุ ทั้งหลาย สืบไปว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปัญญา จักรู้ถ้อยคำของคนร้องขอความกรุณาบอกความต้องการ ผู้ปราศจากความตระหนี่ ย่อมบริจาคทานให้ทานที่ควรบริจาค กาลทานที่บุคคลบริจาคแล้วด้วยจิตเลื่อมใสมีผลไพบูลย์ แม้คนที่ช่วยเหลือในการบริจาค ที่สุดคนที่ทราบเรื่องแล้ว พลอยอนุโมทนาทานในการบริจาคนั้นด้วยความเลื่อมใส ก็มีส่วนพลอยได้บุญด้วยมาก เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรมีความกินแหนงแคลงใจในการบริจาค พึงห้ามความท้อแท้และพึงบริจาค ทานที่บริจาคแล้วนั้น มีผลมากนัก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาลทาน คือ ทานที่บริจาคในฤดูกาลที่นิยมนี้ มี ๕ อย่างคือ ๑. อาคันตุกทาน ทานสำหรับบริจาคแก่ผู้เดินทางมาถึงถิ่นเรา ๒. คมิกทาน ทานบริจาคแก่ผู้เตรียมตัวจะเดินทางไกล ๓. ทุพภิกขทาน ทานบริจาคในคราวเกิดทุพภิกขภัย คือในสมัยข้าวยากหมากแพง ในคราวประชาชนอดหยากลำบากด้วยอาหารเพราะฝนแล้ง ข้าวตาย คนอดหยากมาก แม้ประสบภัยจากน้ำท่วม ลมร้ายไฟไหม้ ก็นับเข้าในข้อนี้ ๔. นวผลทาน ทานบริจาคในคราวมีผลไม้ใหม่ในปีหนึ่งๆ เช่น สลากภัตมะม่วง เป็นต้น ๕. นวสัสสทาน ทานบริจาคในคราวข้าวกล้าในนาแรกเกิดผล ในเวลาต่างๆกัน รวม ๙ ครั้ง คือ
. สาลิคพฺพคฺคํ ในคราวแรกรวงข้าวกล้าเป็นน้ำนม ( นิยมเรียกว่า ยาคู )
.ปุถุคฺคํ ในคราวข้าวเป็นข้าวเม่า
. สายนคฺคํ ในคราวเกี่ยว
. เวณิคฺคํ ในคราวทำคะเน็ด
. กลาปคฺคํ ในคราวมัดฟ่อน
. ปลคฺคํ ในคราวขนเข้าลาน
. ภณฺฑคฺคํ ในคราวทำลอมข้าว
. โกฏฐคฺคํ ในคราวขนเข้ายุ้งฉาง
. อุกฺขลิกคฺคํ ในคราวหุงข้าวใหม่
กาลทาน ทั้ง ๕ นี้ ที่บุคคลมีปัญญา มีศรัทธา บริจาคในท่านผู้มีศีลทั้งหลาย ย่อมมีผลมากยิ่งแล เมื่อสิ้นกระแสพระโอวาทแล้ว ได้ตรัสคำเป็นอนุโมทนากถา รวม ๓ คาถาครึ่ง มีคำว่า กาเล ททนฺติ เป็นต้น
สำหรับกาลทานในเรื่องถวายเนื่องด้วยข้าว รวม ๙ ครั้งนี้ มีเรื่องที่พรรณนาถึงผลของกาลทาน ที่คนใจบุญได้พยายามทำ ว่ามีผลมาก และได้รับผลก่อนผู้อื่น เพราะคนทำก่อนย่อมได้ผลก่อน คนทำภายหลัง ย่อมได้ผลภายหลัง เรื่องมีว่า ในศาสนาของพระวิปัสสีสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้นมีคหบดีสองพี่น้อง ผู้พี่มีนามว่า มหากาล ผู้น้องมีนามว่า จุลกาล เป็นผู้มีหลักฐานในกสิกรรม ทำนาเป็นอาชีพ โดยชอบโดยกาล มีวิริยะอุตสาหะไม่เกียจคร้านในงานเฉพาะหน้า สมัยหนึ่งได้เริ่มทำนา เมื่อข้าวกล้าได้น้ำท่า และได้รับการรักษาด้วยดีก็งดงามเสมอกันหมด ครั้นข้าวในนาออกรวง เริ่มมีน้ำนมแล้ว ท่านคหบดีจุลกาล จึงดำริว่า อันน้ำนมในเมล็ด ในระยะกาลนี้ มีโอชารส ถ้าเราจะเอามาบดบีบคั้นเอาแต่น้ำนมและผสมปรุงด้วยน้ำตาลกรวด ก็จะมีรสหวาน เป็นอาหารอันเอมโอชอันล้ำค่า แล้วน้อมถวายแต่พระบรมศาสดาพระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นดีแท้จึงจัดการทดลองโดยเกี่ยวเอารวงข้าวที่กำลังเป็นน้ำนม ในเขตนามา บ้านครั้นท่านมหากาลผู้พี่ชาย เห็นเข้าก็ไม่ชอบใจ และห้ามปรามทัดทาน แต่ท่านจุลกาลไม่ยินยอม ในที่สุดได้ตกลงแบ่งนาทั้งสิ้นออกเป็นคนละส่วนไม่รวมกัน เพี่อให้สิทธิในอันที่จะทำกิจนั้นๆได้ตามประสงค์ โดยควรแก่อัธยาศัย ท่านจุลกาล มีความยินดีในอันจะได้บำเพ็ญบุญดังมโนรถจึงได้เรียกคนเข้าช่วยจัดตัดเอาแต่รวงข้าวที่เป็นน้ำนม เอามาคั้นปรุงเป็นข้าวยาคู อย่างโอชารส พอควรแก่พระสงฆ์ และน้อมถวายพระพุทธองค์ พระวิปัสสีสัมพุทธเจ้าและสาวกด้วยความเลื่อมใส และได้อธิษฐานไว้ว่าต่อไปในเบื้องหน้า ขอให้ข้าได้บรรลุโมกขธรรมก่อนกว่าใครๆในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลข้างหน้าโน้นเถิด
ส่วนท่านมหากาลไม่เลื่อมใส ไม่พอใจในการกระทำของน้อง ปล่อยให้ท่านจุลกาลบำเพ็ญบุญกาลทานในผลของข้าวในนา รวม ๙ ครั้งตามลำพัง มิได้เข้าช่วยเหลือร่วมแรง แม้แต่จิตจะอนุโมทนาก็ไม่มี เพราะไม่มีความยินดีแล้วแต่ต้น ได้มาบำเพ็ญบุญสำหรับตนต่อกาลภายหลัง
ดังนั้น ครั้นท่านทั้งสองวายชนม์แล้ว ก็ไปสุคติสวรรค์ด้วยบุญกรรมนั้นๆ อำนวยให้ ประสบสุขตามวิสัย โดยควรแก่กาล ครั้นมาบังเกิดในภัทรกัปป์นี้ ด้วยอานุภาพของกาลทานของท่านจุลกาลที่ได้บำเพ็ญในครั้งนั้น ได้นำให้ท่านมาเกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ได้สดับธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ได้สำเร็จอริยผล เป็นพระสงฆ์อริยเจ้าก่อนผู้อื่นทั้งหมดสมดังมโนรถที่ปรารถนาไว้ในคราวถวายข้าวยาคู ซึ่งปรุงขึ้นด้วยข้าวน้ำนมในศาสนาพระวิปัสสีสัมพุทธเจ้า
ส่วนท่านมหากาล ได้มาบังเกิดเป็นพระสุภัททะ ได้ฟังธรรมของพระสัมพุทธเจ้าในเวลาที่พระองค์ใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมื่องกุสินารา ได้เป็นอรหันต์องค์สุดท้าย ด้วยกุศลที่ถวายทานในกาลภายหลัง ด้วยประการฉะนี้
สำหรับอนุโมทนากถานี้ พระสงฆ์ได้นิยมสวดเป็นคาถาอนุโมทนาในงานถวายกาลทาน ตามที่ประจักษ์อยู่เป็นประจำโดยมาก ก็งานทอดกฐิน ด้วยผ้ากฐินเป็นผ้ากาลจีวร คือ จีวรที่ทายกจัดถวายพระสงฆ์ในจีวรกาล ตามพระบรมพุทธานุญาตที่ทรงบัญญัติ จัดเข้าในกาลทานโดยแท้ กับงานถวายสลากภัตต่างๆ เช่น สลากภัตมะม่วง สลากภัตทุเรียน เป็นต้น ก็นิยมใช้กาลทานสูตรสวดอนโมทนาทั่วกันในสังฆมณฑล
เพราะฉะนั้น ขอสาธุชนผู้ใคร่บุญ ไม่พึงประมาทในโอกาสที่บำเพ็ญกาลทาน ควรจะมีใจเบิกบานร่วมบำเพ็ญกุศล หรือไม่ก็เข้าช่วยเหลือด้วยกำลังของตนตามสามารถ ที่สุดหากไม่เป็นโอกาส ก็ควรตั้งใจอนุโมทนาสาธุการ จักได้มีส่วนบุญในกาลทานนั้นๆ ตามควรแก่วิสัยในกำลังบุญกุศล เพื่อเพิ่มพูนบุญบารมีของตนให้ไพศาล ขอยุติข้อความในเรื่องกาลทานแต่เพียงนี้

No comments:

Post a Comment