Saturday, June 11, 2011

ตำนานวิหารทานกถา ๑

ตำนานวิหารทานกถา ๑

อนุโมทนากถา เป็นพุทธมนต์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุโมทนาในงานต่างๆ เป็นมนต์ที่พระสงฆ์ได้นิยมสวดอนุโมทนาต่อท้าย ยถา สัพพี ในงานทั่วไป เลือกสรรมนต์ให้สอดคล้องแก่งานนั้นๆ เป็นเรื่องที่น่ารู้อยู่ไม่น้อย ฉะนั้น ต่อไปจะได้นำอนุโมทนากถาเฉพาะที่พระสงฆ์นิยมใช้ในงานนั้นๆ มาบรรยายเป็นลำดับไป สำหรับอันดับนี้ จะได้นำวิหารทานกถา มนต์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยปรารภการถวายกุฏี วิหาร มาบรรยายเป็นมนต์บทแรก โดยจะได้บรรยายถึงมูลเหตุแห่งมนต์บทนี้เพื่อเจริญความรู้ความปฏิบัติก่อน ทั้งเพื่อเป็นวิทยาภรณ์ของธรรมจารีชนสืบไป เรื่องมีว่า
สมัยหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกะ คฤหบดีชาวเมืองสาวัตถี เดินทางไปเมืองราชคฤห์ และพักแรมอยู่ที่นิเวศน์ของท่านราชคฤหเศรษฐี น้องภรรยาท่าน ได้สดับเกียรติคุณพระสัมพุทธเจ้า มีความศรัทธาเลื่อมใสแม้จะยังไม่เคยเห็น ไม่เคยสดับธรรม ก็มีความปรารถนาแรงกล้าในอันจะเข้าเฝ้า ตั้งแต่เวลาแรกที่ได้สดับพระเกียรติคุณ ดังนั้น ในคืนวันนั้นเองด้วยความใคร่จะเข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ถึงกับนอนไม่หลับ และไม่อาจระงับใจรอจนสว่างได้ ดังนั้น เวลา ๔ นาฬิกา จึงออกจากที่พักเดินตรงไปยังป่าสีตวัน ที่พระสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ เวลานั้นเป็นเวลาใกล้รุ่งพระสัมพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงทอดพระเนตรเห็นท่านอนาถบิณฑิกะแล้วตรัสเรียกให้เข้าเฝ้า ทรงตรัสพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาฟอกจิตท่านอนาถบิณฑิกะดีแล้ว จึงได้แสดงสามุกกังสิกะเทศนา ให้ท่านอนาถบิณฑิกะเกิดธรรมจักษุ บรรลุโสดาปัตติผล ประกาศตนเป็นอุบาสกในที่สุด
ท่านอนาถบิณฑิกะ ได้อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์รับภัตตาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น เมื่อได้จัดอาหารถวายอังคาสแล้ว กราบทูลอาราธนาพระสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ เมืองสาวัตถี ซึ่งท่านจะเป็นผู้สร้างอารามถวายให้ประทับ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ แล้วเสด็จกลับประทับยังป่าสีตวัน
ในเวลานั้น ท่านอนาถบิณฑิกะมีมิตรสหายมาก มีถ้อยคำเป็นที่เชื่อถือของคนทั้งหลาย ดังนั้น ท่านคหบดีจึงสามารถทำธุระของท่านในเมืองราชคฤห์ให้สำเร็จได้รวดเร็ว แล้วรีบกลับพระนครสาวัตถี
อนึ่ง ขณะที่เดินทางมา เมื่อเห็นสถานที่ตรงไหนควรจะสร้างสถานที่รื่นรมย์หรือที่พัก หรือเทยยทานได้ ก็สั่งคนของท่านจัดสร้างทันที พร้อมกับเกริ่นข่าวดีให้รู้ล่วงหน้าไว้ด้วยว่า พ่อแม่ทั้งหลาย เวลานี้พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้นแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าได้กราบทูลอัญเชิญเสด็จไว้แล้วทั้งพระสงฆ์ ทั้งพระองค์ก็ทรงพระมหากรุณาจะเสด็จพุทธดำเนินมาทางนี้ด้วย
เป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่คนทั้งหลายพอได้ทราบข่าวดีจากท่านคหบดีก็มี ความเลื่อมใส พอใจร่วมมือกันจัดทำสถานที่รื่นรมย์ ที่พัก และเทยยทานตามระยะทางนั้น พร้อมทั้งจัดซ่อมทางนั้นให้เรียบร้อยด้วย
ครั้นท่านอนาถบิณฑิกะถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้ตรวจดูสถานที่รอบๆเมือง โดยดำริว่า อันสถานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จประทับอยู่นั้น ควรจะเป็นที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้าน มีทางไปมาสะดวก คนมีธุระจะไปถึงไม่ลำบาก กลางวันก็ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน กลางคืนก็เงียบเสียงไม่อื้ออึง ปราศจากกลิ่นไอคนเข้าออก สมควรเป็นที่ประกอบกิจของคนต้องการที่สงัด และควรแก่ผู้ที่จะหลีกออกเร้นอยู่ ตามสมณวิสัย อันสถานที่ที่มีลักษณะเช่นนี้ จะหาได้ในที่ไหนหนอ
ครั้นเดินตรวจดูไป ก็พบสวนของเจ้าชายเชตราชกุมาร มีลักษณะอย่างที่นึกไว้ ก็ดีใจ รีบไปเฝ้าเชตราชกุมาร ยังตำหนักของเจ้าชายในวันรุ่งขึ้น
เจ้าชายทรงปฏิสันถารแขกผู้มีเกียรติของพระองค์แล้ว รับสั่งว่า มาแต่เช้าเทียว ท่านคหบดี มีธุระอะไร พูดไปเถอะ
กระหม่อมมาขอประทานสวนของฝ่าพระบาท เพื่อจะสร้างอาราม
ให้ไม่ได้ ท่านคหบดีเจ้าชายรับสั่ง ถึงท่านจะปูเงินสิบล้านลงไปในที่ดินนั้น ก็ไม่สำเร็จ
ท่านอนาถบิฑิกะนึกในใจว่า น้ำเสียงรับสั่งของเจ้าชาย ส่อว่าจะขายที่อยู่ ถ้าให้ราคาสูง เปิดช่องให้คนซื้อขึ้นราคาให้ คือ สิบล้านให้ไม่ได้ ถ้ากว่าสิบล้านก็คงให้ได้ ดังนั้นจึงทูลเจ้าชายติดไปว่า ตกลงกระหม่อมขอรับซื้อตามที่ฝ่าบาทประทานขายให้สุดแต่จะกรุณา
เจ้าชายตกพระทัย ไม่คิดว่า ท่านอนาถบิณฑิกะจะเอาจริงๆนิ่งอึ้งไปเป็นครู่ แล้วรับสั่งว่า ฉันขายให้ไม่ได้ดอก ท่านคหบดี
เกิดขัดแย้งกันขึ้นในระหว่างเจ้าชายและท่านอนาถบิณฑิกะ ในเรื่องขายได้ ขายไม่ได้ จึงต้องไปหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญในกฏหมายวินิจฉัยชี้ขาด
ท่านอำมาตย์ผู้ใหญ่ให้คำวินิจฉัยว่า ท่านอนาถบิณฑิกะควรจะได้ซื้อ เจ้าชายก็ชอบที่จะขายให้ เพราะได้ประเมินราคาขายไว้แต่ต้นแล้ว ถ้าจะไม่ขายหรือยังไม่พร้อมที่จะขายให้ ก็ไม่ควรวางราคาลงไป ครั้นเมื่อได้วางราคาลงไปว่า ปูเงินลงไปสิบล้าน ก็ขายให้ไม่ได้ เป็นอันแสดงออกว่าถ้าปูเงินลงไปกว่าสิบล้าน จนเป็นที่พอใจแล้ว เจ้าชายก็ยินดีจะขายให้เหมือนกัน
เชตราชกุมารก็จำนนต่อเหตุผลแห่งความวินิจฉัย ต้องขายสวนนั้นให้แก่ท่านอนาถบิณฑิกะสร้างอาราม โดยตกลงกัน ให้ท่านคหบดีปูเงินลงไปบนพื้นที่นั้นจนเต็มตลอดเนื้อที่
ท่านอนาถบิณฑิกะสั่งให้เจ้าหน้าที่การคลังขนเงินมาหลายร้อยเล่มเกวียน ปูลงไปตลอดพื้นที่สวนนั้น แต่บรรดาเกวียนทั้งหมดที่ขนเงินลำเลียงมาส่งเที่ยวหนึ่ง เป็นเงิน ๑๘๐ ล้าน เงินยังไม่เต็มพื้น ยังขาดอยู่ตอนหนึ่ง ตรงที่ใกล้ซุ้มประตูสวน
เชตราชกุมารเกิดความเลื่อมใสในการสร้างอารามของท่านคหบดี จึงตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกะว่า พอที! ท่านคหบดี อย่าปูเงินลงไปยังที่ว่างตรงนั้นเลย โปรดให้ที่ว่างตรงนั้นเป็นส่วนของฉัน ขอให้ฉันมีส่วนถวายที่วัดด้วยเถิด
ท่านอนาถบิณฑิกะ คิดว่า เจ้าชายองค์นี้ มีเกียรติยศสูง มีคนยกย่องนัก และมีอิทธิพลมากด้วย ความเลื่อมใสในธรรมวินัยของคนที่ทรงคุณลักษณะเช่นนี้ มีประโยชน์ จึงได้มอบที่ว่างตรงนั้นให้เป็นส่วนกุศลทานของเชตราชกุมาร ตามที่ทรงรับสั่งขอมีส่วนร่วมกุศล ในการสร้างพระอารามนี้
เมื่อเจ้าชายได้มีส่วนสร้างพระอารามเช่นนั้น ก็ดีพระทัย จึงได้ทรงสร้างซุ้มประตูลงในที่นั้น ( แล้วจารึกนามของพระองค์ลงไว้เป็นสำคัญว่าพระเชตวันวิหารเป็นเกียรติประวัติสืบมา)
ท่านอนาถบิณฑิกะเมื่อได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว ก็อิ่มใจมากไม่คิดอะไรอื่น มุ่งจะให้ที่ดินแปลงนั้นเป็นพระอาราม ที่ประทับของพระสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลายเท่านั้น ดังนั้น จึงได้ระดมช่างลงมือสร้างพระเชตวันวิหารเป็นการใหญ่ ตั้งต้นแต่บริเวณ ซุ้มประตู ศาลาทำบุญ โรงไฟ กัปปิยกุฎี (ครัว) วัจจกุฎี (ส้วม) ที่จงกรม ศาลาจงกรม บ่อน้ำ ศาลา บ่อน้ำเรือนไฟ ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี และมณฑป เป็นอันมาก ด้วยอานุภาพกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ ท่านอนาถบิณฑิกะก็บันดาลพระอาราม อันมีนามว่า พระเชตวันวิหารให้สำเร็จเรียบร้อยโดยกาลไม่นาน สมดังมโนรถทุกประการ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงพระนครสาวัตถี และประทับอยู่ ณ พระเชตวนาราม ของท่านอนาถบิณฑิกะด้วยความผาสุก
ท่านอนาถบิณฑิกะพร้อมด้วยชาวพระนครเป็นอันมาก พากันไปถวายความต้อนรับ แสดงความชื่นชมยินดี ถวายความอุปถัมภ์บำรุงทุกประการ ครั้นแล้วท่านอนาถบิณฑิกะได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารเช้าที่นิเวศน์ของท่าน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ
เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาแล้ว มีความยินดีถวายอภิวาททูลลา ทำปทักษิณแล้วกลับนิเวศน์ ตลอดราตรีนั้น ท่านได้เป็นธุระอำนวยงาน จัดขาทนียะ โภชนียาหารอันประณีตจนใกล้จะถึงเวลาเสด็จ จึงส่งคนสนิทของท่านไปกราบทูลอัญเชิญ
พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จไปประทับยังพระพุทธอาสน์ ณ นิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกะจึงถวายอภิวาทกราบทูลถามว่า ข้าพระองค์จะปฏิบัติในพระเชตวนารามอย่างไรดีพระเจ้าค่ะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งว่า คหบดี ท่านจงมอบถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังจะมาสู่พระเชตวันในกาลต่อไปเถิด
ชอบแล้ว พระเจ้าค่ะท่านคหบดีทูลรับปฏิบัติพระพุทธบัญชาพระบรมศาสดา แล้วจึงได้ประกาศถวายพระเชตวนารามเป็นสังฆเสนาสน์เพื่อเป็นโอกาสแก่พระสงฆ์ในจตุรทิศจะพึงอยู่อาศัยตามเจตจำนง แด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประธาน
สมเด็จพระพิชิตมาร จึงได้ตรัสอนุโมทนา แสดงอานิสงส์ของวิหารทาน ว่าเป็นสมุฏฐานให้เกิดประโยชน์สุขทั้งผู้รับและผู้ถวาย ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า เป็นยอดของสังฆทาน เป็นปัจจัยให้ประสบความเกษมสานต์ จนบรรลุถึงพระนิพพานเป็นที่สุด โดยพระพุทธภาษิต อนุโมทนา แห่งวิหารทานกถา ในเสนาสนะขันธกะ พระวินัยปิฎกซึ่งได้สาธกมาประดับสติปัญญาพุทธศาสนิกชน ในเวลาเจริญพระพุทธมนต์เพียงเท่านี้

No comments:

Post a Comment