Saturday, June 11, 2011

ตำนานกุสินาราสูตร

กุสินาราสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ประสงค์จะโจทย์ผู้อื่นพึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน
[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์เป็นที่นำไปทำพลีกรรม ใกล้กรุงกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วจึงโจทก์ผู้อื่น ธรรม ๕ ประการอันภิกษุพึงพิจารณาในตนเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้ จะมีว่าผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางกายเสียก่อนเถิดจะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ มิได้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางวาจาเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายแล้วหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เข้าไปตั้งเมตตาจิต ไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงเข้าไปตั้งเมตตาจิตไว้ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามากทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุไม่เป็นพหูสูต ทรงสุตะสั่งสมสุตะ ไม่เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงเล่าเรียนคัมภีร์เสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีแล้ว จำแนกดีแล้ว ให้เป็นไปดีแล้วโดยพิสดาร วินิจฉัยดีแล้วโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุเป็นผู้ไม่จำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีแล้ว มิได้จำแนกดีแล้ว มิได้ให้เป็นไปดีแล้วโดยพิสดาร มิได้วินิจฉัยด้วยดีโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะ ภิกษุนั้นถูกถามว่า ท่านผู้มีอายุ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแล้วในที่ไหน ดังนี้แก้ไม่ได้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านศึกษาวินัยเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้ ธรรม ๕ ประการนี้ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงพิจารณาในตน.
ธรรม ๕ ประการ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงให้เข้าไปตั้งไว้ในตนเป็นไฉน คือ จักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร ๑ จักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำไม่จริง ๑ จักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ ๑ จักกล่าวด้วยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ จักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เพ่งโทษกล่าว ๑ ธรรม ๕ ประการนี้ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงเข้าไปตั้งไว้ในตน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการนี้ในตน พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตน แล้วจึงโจทผู้อื่น.
จบกุสินาราสูตรที่ ๔
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต

No comments:

Post a Comment