Sunday, August 21, 2011

ขราทิยชาดก


ขราทิยชาดก
ผู้ล่วงเลยโอวาท (ไม่อยากเรียน)

                ในอดีตกาล พระธิสัตว์ได้กำเนิดเป็นพญากวาง มีบริวารเป็นอันมาก ล้วนแต่มีระเบียบวินัยและอยู่ในโอวาทของพญากวางผู้เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว และเมตตาปรานีต่อบริวาร โดยสั่งสอนวิธีหากินและเอาตัวรอดจากภยันตรายของกวาง อย่างไม่เห็นแต่เหน็ดเหนื่อยตลอดมา
                วันหนึ่ง น้องสาวพญษกวางพาลูกชายมาฝากให้ช่วยสอนวิชามฤคมายาแก่ลูกกวางของตนด้วย แต่เมื่อถึงกำหนดนัดเวลาเรียน ลูกกวางนั้นไม่เคยมาเรียนเลย บ่นกับเพื่อนลูกกวางด้วยกันว่า ไม่อยากไปเรียน ไม่เห็นจะน่าสนุกเลยเรื่องตะกุยดิน เบ่งท้องให้พองลมทำเป็นตายน่ะ ถึงไม่เรียนก็ทำได้ ไม่เห็นยากเลย เพื่อนๆ ก็ค้านว่า โธ่พญากวาง ท่านพญากวางท่านอุตส่าห์สละเวลามาสอนให้พวกเราโชคคีจะตาย มีโอกาสแล้ว รีบไปเรียนกันเถอะ แต่ลูกกวางนั้นก็ยังดื้อดึงไม่สนใจฟังคำตักเตือนของเพื่อนๆ หนีเรียนมาทุกครั้ง ซ้ำยังพูดว่า พวกเธอไปเรียนกันเถอะ ไม่ต้องมาห่วงฉันหรอก ฉันโตพอแล้ว เอาตัวรอดได้นะ แล้วลูกกวางนั้นก็ไม่สนใจไปเรียนกับพญากวางผู้เป็นลุงของตน เลยเที่ยวไปวิ่งเล่นในป่าอย่างสบายใจ ด้วยความเพลิดเพลินและประมาทจึงไปติดบ่วงของนายพรานเข้า ฝ่ายนางกวางไม่เห็นลูกกลับมาจนเวลาล่วงไปถึง ๗ วัน ก็เอะใจและกังวลมาก รีบไปหาพญากวาง ถามถึงลูกตนว่า พี่สอนหลานให้เรียนมายาของเนื้อแล้วหรือไม่ พญากวางจึงตอบว่า น้องเอ๋ย ตั้งแต่วันที่เจ้าเอาลูกมาฝากให้พี่สอนวิชา นัดวันและเวลาเรียนแล้วก็ไม่เคยเห็นหน้าเจ้าหลานชายนี้อีกเลย ตลอดทั้ง ๗ วัน จนถึงวันนี้ นางกวางตกใจมากรีบไปถามบรรดาเพื่อนๆ ของลูกชายจึงรู้ว่าลูกของนางวิ่งเล่นจนไปติดบ่วงนายพรานและถูกฆ่าตายเสียแล้ว นางเศร้าโศกเสียใจมากร้องไห้คร่ำครวญว่า ลูกเอ๋ย ทำไมลูกไม่เชื่อฟังแม่ ลูกของแม่ต้องมาตายเสียตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะความดื้อรั้นแท้ๆ เทียว ถ้าลูกตั้งใจเรียนไม่หนีไปเที่ยวเล่นก็คงไม่ต้องตายจากแม่ไปเช่นนี้ นางกวางร้องไห้สะอึกสะอื้นปานจะขาดใจ พญากวางจึงกล่าวให้สติว่า ขราทิยาเอ๋ย เจ้าอย่าได้เศร้าโศกเสียใจกับลูกหัวดื้อไม่ยอมอยู่ในโอวาทนั้นเลย พี่ไม่อาจสั่งสอนเจ้าลูกกวางผู้มีเขาคดตั้งแต่โคนจนถึงปลายและดื้อด้าน ไม่มาเรียนได้จนถึง ๗ วันเช่นนี้ พระบรมศาสดาตรัสเล่าชาดกเรื่องนี้ อันมีสาเหตุจากภิกษุรูปหนึ่งซึ่งคลายความเพียร ไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม พระเถระและเพื่อนพระภิกษุด้วยกันตักเตื่อนเท่าไรก็ไม่เชื่อฟังกลับดื้อรั้นโต้เถียงไม่ลดละ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอบถามภิกษุนั้นยอมรับพระองค์จึงตรัสว่า เธอไม่ได้เป็นคนหัวดื้อเฉพาะแต่ในชาตินี้ดอกนะ แม้เมื่อชาติก่อนเธอก็ดื้อด้านไม่ยอมเรียนจนกระทั่งต้องไปติดบ่วงตายมาแล้ว เมื่อทรงรับอาราธนาจากภิกษุทั้งหลาย พระทศพลจึงทรงเล่าขราทิยชาดกดังกล่าว และทรงประชุมชาดกว่า กวางผู้เป็นหลานดื้อในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุหัวดื้อ ว่ายาก ไม่ตั้งใจเรียนรูปนี้ กวางขราทิยาได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี พญากวางได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
                ลูกดื้อ มักจะทำให้พ่อแม่เสียใจอยู่เนืองๆ ความดื้อรั้นอาจเป็นเหตุให้ลูกประสบความหายนะหรืออาจถึงกับเสียชีวิต พ่อแม่ยิ่งโศกเศร้าเสียใจนักหนา เพราะลูกถึงดื้อรั้นสักปานใด พ่อแม่ก็รักลูกดั่งดวงใจ นิสัยคนเรา ไม่ว่าดีหรือเลว จะติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้ คนที่มีนิสัยดื้อรั้นควรรีบแก้ไขเสีย มิฉะนั้นจะไม่มีใครอยากแนะนำตักเตือน คนหัวดื้อจัดว่าเป็นคนอาภัพมากเพราะไม่มีใครอยากข้องแวะหรือเกี่ยวข้องด้วย

Saturday, June 11, 2011

ตำนานโมรปริตตัง

ตำนานโมรปริตร

โมรปริตร นี้แปลว่า คาถาสำหรับป้องกันตัวของพญานกยูง พะบรมโพธิสัตว์ อธิบายว่า พระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นนกยูง ได้เจริญมนต์บทนี้เป็นประจำ ดังนั้น เมื่อไปในที่ใดจึงแคล้วคลาดปราศจากภัยอันตรายทั้งมวล แม้ศัตรูจะมุ่งทำร้ายก็ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ มนต์ของพญานกยูงจึงได้รับยกขึ้นเป็นมนต์สำหรับสวดประจำในพิธีทำบุญ ในพระบรมมหาราชวัง และในบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อความสวัสดีจากภยันตราย พระปริตรนี้ มีตำนานเล่าไว้ว่า
ครั้งหนึ่ง พระบรมโพธิสัตว์ของเรา เกิดเป็นนกยูงทอง ได้รับยกขึ้นเป็นพญานกยูง มีศักดิ์สูงกว่านกยูงทั้งหลายในป่าใหญ่นั้น อธิบายว่า ปกตินกยูงก็มีสีสัณฐ์และแวววาวด้วยสีทองงามตามวิสัยอยู่แล้ว หากแต่สีที่ขนนั้น มีสีเขียวมากกว่า จึงมีรูปลักษณะเป็นนกยูงเขียว ส่วนพญายูงโพธิสัตว์มีสีทองมาก เลื่อมแพรวพราวระยับไปด้วยสีทอง มีนัยน์ตาเหมือนผลกระพังโหม สีจะงอยปากเหมือนสีแก้วประพาฬ ขนที่สร้อยคอเป็นสีทองตัดกับสีแดงรอบคอ เป็นสามชั้น และผ่านไปกลางหลัง มีร่างกายใหญ่เท่าดุมเกวียนใหญ่ ทรวดทรงงามยิ่งนัก
วันหนึ่ง พญายูงดื่มน้ำในตระพังน้ำ เห็นเงาของตนปรากฏในน้ำงามยิ่งนัก ก็รำพังว่า เรามีรูปงามเลิศกว่านกยูงทั้งหลาย ความงามของรูปมิใช่จะเป็นเพียงเสน่ห์เรียกร้องความนิยมอย่างเดียว พร้อมกันนั้น ก็ยังเป็นช่องทางให้ภยันตรายเดินมาสู่อีกด้วย ตั้งต้นแต่ความฤษยาในหมู่นก และหมู่มนุษย์ที่ต้องการความงามเพื่อเป็นสมบัติประดับเกียรติของเขา อยู่ที่นี่ไม่ปลอดภัยแน่ ควรจะหลบไปเร้นในป่าหิมพานต์ เพื่อปลอดภัยอยู่ด้วยความผาสุกแต่ผู้เดียว
ครั้นดำริดังนั้นแล้ว ในเพลาราตรีขณะที่ฝูงนกบริวารกำลังหลับสนิทได้บินหนีเข้าป่าหิมพานต์ผ่านทิวเขาไป ๓ ชั้น ถึงทิวเขาชั้นที่ ๔ พบสระดบกธรณีดาดาษไปด้วยบัวต่างๆและต่อจากนั้นไป ก็มีต้นไทรใหญ่หนาแน่นด้วยกิ่งใบ ขึ้นอยู่ที่ใกล้ภูเขาลูกหนึ่ง จึงเข้าแฝงกายพำนักอาศัยอยู่ในที่นั้น
อนึ่ง ที่ตรงกลางภูเขานั้น ยังมีถ้ำใหญ่มีคูหาห้องเป็นที่เจริญใจ แม้จะเข้าอาศัยก็ผาสุก ไม่มีอันตรายจากสัตว์ร้ายใดๆ เข้ารบกวน พญายูงจึงได้ยืดเอาเป็นที่อยู่ เวลาเช้าก็ออกจากถ้ำเกาะอยู่ที่ยอดเขาในด้านตะวันออก เห็นพระอาทิตย์กำลังอุทัยทอแสงสว่างจับพื้นฟ้า ก็บ่ายหน้าเพ่งสุริยมณฑล พลางสวดปริตรป้องกันตัวว่า อุเทตยญฺจกฺขุมาเป็นต้น แล้วจึงร่อนลงไปหาอาหารในที่ต่างๆตลอดวัน เวลาเย็นก็กลับมายังที่พัก ครั้นเห็นพระอาทิตย์กำลังสาดแสงรังษีสนธยารำไรใกล้อัสดงคต ก็บ่ายหน้ามาข้างทิศตะวันตก ตาจับอยู่ที่สุริยมณฑล พลางก็เจริญปริตรมนต์ป้องกันตัวอีกว่า อเปตยญฺจกฺขุมาเป็นต้น แล้วจึงหลับนอน ครั้นรุ่งขึ้นเช้าและเย็น คือเวลาก่อนจะออกไปหากินและก่อนจะนอน พญายูงก็เจริญพระปริตรมนต์บทนี้ก่อน เป็นประจำตลอดกาล
ใจความพระปริตรนั้นว่า พญายูงขอคารวะต่อผู้มีพระคุณ คือ พระอาทิตย์ พราหมณ์ผู้เจนจบในพระเวทย์ ตลอดสรรพธรรม พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้า ท่านผู้วิมุติหลุดพ้นบาป ธรรมทั้งมวล และวิมุติธรรมกับในตอนท้าย ขอให้ช่วยคุ้มครองป้องกันตน
ในที่อื่นกล่าวต่างจากนี้ออกไปว่า พญายูงมีมารดาซึ่งมีจักษุบอดทั้งสองข้างอยู่ด้วย พญายูงต้องเป็นภาระเลี้ยงดูมารดาผู้นี้ ด้วยความกตัญญูอย่างสูง คือเวลาเช้าไปปฏิบัติมารดา ทำคารวะก่อนจึงจะไปหากิน เวลาเย็นกลับมาก็นำอาหารมาปฏิบัติมารดาก่อนจึงจะไปหลับนอน
ทั้งสองนัยนี้ คงได้ความลงกันว่า พญายูงได้สวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็น วันละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ เป็นตัวอย่างอันดีสำหรับพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ และได้เลี้ยงดูมารดาด้วยตนเองทั้งเช้าเย็น ด้วยความกตัญญูสนองพระคุณท่านเป็นประจำ ก็เป็นตัวอย่างสำหรับคนทั่วไปทุกชาติ ชั้นวรรณะ เป็นอย่างดี ชีวิตของพญายูงไม่ห่างจากพระ ไม่ห่างจากผู้มีคุณ ไม่เปล่าจากการกระทำความดี และด้วยเดชพระปริตรและอานุภาพความกตัญญูนี้ ได้คุ้มครองให้พญายูงปราศจากภัยพิบัติอุปัทวันตราย ได้ความสุขกายสุขใจตลอดกาล
ต่อมามีนายพรานคนหนึ่งดั้นด้นไปในป่าลึก ข้ามทิวเขาไปหลายชั้นได้เห็นพญายูงทองงามจับตา ตลึงในความงามของทรวดทรงและขนสีทองของพญายูง ถึงกับรำพึงในตัวเองว่า เป็นขวัญตาของเราที่ได้เห็นพญายูงที่เขากล่าวกันว่า นกยูงทองนั้น มีนกยูงทองจริง ไม่ใช่มีเพียงคำพูด และนายพรานก็ดีใจเพียงได้ชมเท่านั้น ครั้นกลับมาถึงบ้าน ก็มิได้แพร่งพรายให้ใครฟัง จวบเวลาใกล้ตายจึงกระซิบบอกลูกชายไว้ว่า ในทิวเขาชั้น๔ ขึ้นไปโน้น มีนกยูงทองงามยิ่งนัก
อยู่มาวันหนึ่ง พระนางเขมาราชเทวี มเหสีของพระเจ้าพาราณสีทรงสุบินนิมิตรในเวลาใกล้รุ่งว่า พระนางได้ทอดพระเนตรเห็นพญานกยูงทองงามน่ารักอย่างยิ่ง และยังได้สดับธรรมของพญายูงที่แสดงแก่พระนาง แล้วพญายูงก็บินไป พระนางร้องให้คนช่วยจับแล้วทรงตื่น จึงทราบว่าพระนางฝันไป จิตใจของพระนางครุ่นคิดถึงพญายูงไม่ขาด ได้อุบายกราบทูลพระเจ้าพาราณสีว่าแพ้พระครรภ์ ให้ช่วยหาพญายูงพระราชทาน
พระเจ้าพาราณสีทรงเอ็นดูพระนาง รับสั่งให้ประชุมพรานป่า ให้ค้นหานกยูงทอง ครั้นพรานผู้ทราบความจริงกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ก็พระราชทานรางวัลพร้อมกับรับสั่งให้เดินทางไปดักจับเป็นมาถวาย พรานนกผู้นั้นได้พยายามไปดักพญายูงในที่ต่างๆ ที่พญายูงลงหาอาหาร แม้พญายูงจะเหยียบแร้วเหยียบบ่วง แร้วบ่วงตลอดเครื่องดักใดๆ ก็ไม่ลั่นไม่รัดเสมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไร ด้วยอำนาจพระปริตรคุ้มครองรักษา
ครั้นพระราชเทวีไม่ได้นกยูงทองดังพระประสงค์ ก็ทรงประชวรเป็นโรคฝัน ไม่มียารักษา ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ จึงคิดอาฆาตผูกเวรพญายูงอย่างไม่เป็นธรรม เพราะพญายูงไม่รู้ตัวว่ามีผิดอย่างใด ทรงให้จารึกตำรายาวิเศษขนานหนึ่งไว้ในแผ่นทองคำว่า ใครได้กินเนื้อนกยูงทอง ณ ทิวเขาชั้น ๔ ในป่าหิมพานต์แล้ว จะไม่แก่ ไม่ตาย แล้วบรรจุไว้ในหีบไม้
ครั้นพระองค์สวรรคตแล้ว กษัตริย์พระองค์ใหม่มาเป็นพระราชาทอดพระเนตรเห็นอักษรในแผ่นทองคำ ก็พอพระทัย ใคร่จะไม่แก่ ไม่ตายบ้าง จึงรับสั่งให้พรานป่าผู้สามารถไปหาอุบายดักนกยูงทองนั้นอีก แม้พยายามอยู่ด้วยอุบายนั้น ก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่พญายูงได้ กษัตริย์ผู้พยายามเอานกยูงทอง ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง ๖ รัชกาล แม้พรานป่าก็ได้ตายไปแล้วถึง ๖ คน
ครั้นต่อมา นายพรานคนที่ ๗ ซึ่งพระราชาองค์ที่ ๗ ทรงใช้ให้ไปดัก ได้พยายามดักจับอยู่ถึงเจ็ดปี ก็ยังไม่สามารถจับได้ พรานจึงดำริว่า ไฉนหนอบ่วงจึงไม่รัดเท้าพญายูง พรานลอบสังเกตดูอาการพญายูงอย่างถี่ถ้วน ก็รู้ชัดว่า พญายูงเจริญมนต์พระปริตรทุกเวลาจะออกหากินและในเวลากลับ มั่นอยู่ในพระปริตรทุกเช้าเย็น ด้วยอนุภาพมนต์นี้เอง บ่วงจึงไม่รัดเท้านกยูงทองนี้ แล้วพรานก็คิดหาอุบายจับพญายูงให้ได้ก่อนเจริญพระปริตร โดยไปสรรหานางนกยูงที่งาม เสียงเพราะ มาฝึกหัดให้ทำทีท่าและร้องให้ได้ตามอุบาย แล้วก็นำมาที่ภูเขานั้น วางบ่วงดักพญายูงไว้ก่อนอรุณจะขึ้น ครั้นได้เวลาจึงดีดนิ้วมือให้นางยูงขัน เร่งเสียงกระชั้นก่อนพญายูงจะเจริญพระปริตร พญายูงฟังเสียงไพเราะ หลงเสียง ลืมเจริญพระปริตร บินร่อนลงไปจับบ่วงดักของพราน บ่วงที่ไม่เคยรัดเท้าพญายูงตลอด ๗๐๐ ปี ก็พลันรูดรัดเท้าพญายูงในขณะนั้นทันที
ทันใดนั้น นายพรานเห็นพญายูงถูกบ่วงรัดเท้าห้อยอยู่ที่ปลายคันแร้วแทนที่จะดีใจที่ดักได้สมนึก กลับคิดสลดใจว่า พราน ๖ คน พยายามดักไม่ได้ ตายไปถึง ๖ คน แม้เราก็พยายามอยู่ถึง ๗ ปี พญายูงมั่นอยู่ในพระปริตรจับไม่ได้ เช้าวันนี้ พญายูงกระวนกระวายด้วยอำนาจความกลุ้มรุมแห่งกิเลส ลืมเจริญพระปริตร จึงถูกบ่วงรัด อยู่ในอาการลำบาก เพราะนางยูงแท้ๆ เราได้ทำให้พญายูงผู้มีศีลมีวัตรอันงามเห็นปานนี้ลำบากไม่สมควรเลย ต้องการอะไร ด้วยสักการะที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานให้เรา การปล่อยให้เธอไปสู่อิสรภาพเป็นความชอบยิ่งนัก ก็แต่ว่า ถ้าเราจะเข้าไปใกล้เพื่อแก้บ่วงปล่อยพญายูงจักเข้าใจผิดว่าเราจะจับไปฆ่า ก็จะดิ้นจนเท้าหักหรือปีกหลุด เป็นโทษ เป็นทุกข์แก่พญายูง อย่ากระนั้นเลย เราจะใช้ลูกธนูนี้ตัดสายเชือกที่รัดเท้าพญายูงให้ขาด โดยเราไม่ต้องเข้าไปใกล้ ปล่อยให้พญายูงไปโดยสวัสดี ครั้งดำริดังนั้นแล้ว จึงแฝงการอยู่ในที่ซุ่มนั่นเอง ยกคันธนูขึ้นเล็งหมายยิงตัดเชือกบ่วงที่รัดเท้าพญายูง
ฝ่ายพญายูงก็ดำริว่า นายพรานพยายามดักจับเรามาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ดักจับเราได้ด้วยอุบายอย่างแนบเนียน ง่ายดาย แต่ไฉนจึงยังไม่จับเราไปอีกหนอ ครั้งมองดูรอบๆเห็นนายพรานกำลังยกธนูเล็งยิงมา ก็ตกใจกลัวตาย จึงได้ร้องขอชีวิตว่า
ท่านหมายทรัพย์ จับเราได้ ด้วยยากเข็ญ
โปรดจับเป็น เถิดอย่าฆ่า ให้อาสัญ
นำฉันไป น้อมถวาย แด่ราชันย์
ท่านจะได้ รางวัล ไม่น้อยเลย
นายพรานคิดว่า พญายูงเข้าใจผิด สดุ้งกลัวตาย เพราะเห็นเรา ยกธนูขึ้นจะยิง จึงพูดปลอบใจพญายูงว่า
อันธนู แข็งขัน ฉันเล็งนี้
มิได้มี ใจว่า จะฆ่าท่าน
คิดยิงตัด บ่วงบาท ให้ขาดพลัน
ขอให้ท่าน บินได้ สบายเทอญ.
พญายูงดีใจ แต่สงสัย จึงกล่าวขอบคุณว่า
ข้าขอบใจ ดีอะไร อย่างงี้นี่
ถึงเจ็ดปี ท่านเพียรอยู่ ดูขยัน
ครั้นจับได้ ไม่ทันไป รับรางวัล
คิดปล่อยฉัน ให้หลุดไป สงสัยนัก
ท่านวิรัติ ตัดใจ ในปาณา
เลิกการฆ่า ให้อภัย ได้ประจักษ์
จิตเมตตา ปราณี ดีนักรัก
น้ำใจหนัก คุณอันใด ฉันใคร่ฟัง
นายพรานเผยความรู้สึกจากน้ำใจจริงแก่พญายูงว่า
ข้าเห็นนก มามาก หลากแก่ท่าน
ช่างขยัน หมั่นบ่ม มนต์จนขลัง
อยู่ในศีล ยินในสัตย์ วัตรจีรัง
ข้าได้ฟัง เช้าเย็น ไม่เว้นวาย
ทั้งมีศีล มีธรรม ประจำมั่น
บูชาท่าน ผู้มีบุญ คุณทั้งหลาย
อีกจรรยา งามละม่อม พร้อมใจกาย
ไม่ควรตาย ก่อนรา พญายูง
อันเงินทอง ของรางวัล นั่นค่าต่ำ
ผู้ทรงธรรม นั้นหนา มีค่าสูง
ท่านอยู่ไป ได้เป็นหลัก ช่วยชักจูง
บรรดาฝูง ปักษา ในอารัญ
พญายูงปราศรัยด้วยนายพราน ว่า
คนตาดี ดูสิ่งใด เห็นได้ซึ้ง
เสมือนหนึ่ง ท่านปราณี ดีต่อกัน
เพ็ชรไร้เรือน รจนา ค่าตกพลัน
ดังตัวฉัน ท่านไม่ยก ก็ตกเลน
เอาเถิดนาย นำฉันไป ถวายราช
จะประกาศ คุณธรรม ให้โลกเห็น
ถวายสัตย์ วจนา แด่ราเชนท์
เหมือนน้ำเย็น ดับร้อน ให้ผ่อนคลาย
ดั่งเพ็ชรมี เรือนทอง เข้ารองรับ
น่าประดับ ราชหรือท่าน งามมั่นหมาย
เกิดมีค่า ร่วมกัน ดังบรรยาย
ไม่รู้วาย คงอยู่ คู่ฟ้าดิน.
นายพรานเห็นจริงตามคำของพญายูง มีความเสื่อมใส จึงนำพญายูงทองไปถวายพระเจ้ากรุงพาราณสี ด้วยอานุภาพเมตตา และพระปริตรของพญายูง ทำให้พระเจ้ากรุงพาราณสีมีความรักใคร่ ตั้งแต่แรกทอดพระเนตรเห็น รับสั่งให้พญายูงจับบนพระแท่นที่ประทับ แล้วตรัสถามว่า
ได้ยินว่า เนื้อของท่าน นั้นมีค่า
ตามตำรา แผ่นทองคำ ทำจำหลัก
ใครกินแล้ว ไม่รู้ตาย วิไลนัก
ข้าให้ดัก ก็เพราะเห็น เจ้าเป็นยา
พญายูงประสานปีกทั้งสอง ข้างคารวะพระเจ้ากรุงพาราณสี แล้วทูลว่า
ข้าแต่องค์ ภูบาล ผ่านพิภพ
เกียรติตระหลบ ลือแจ้ง ทั่วแหล่งหล้า
ว่าทรงธรรม ทรงฤทธิ์ วิทยา
เป็นขวัญตา ข้าได้เห็น เป็นบุญนัก
ที่พระองค์ ทรงมี พระบัญชา
ดังเนื้อข้า นี้มีฤทธิ์ สิทธิศักดิ์
มฤตยู ย่ำเยง กลัวเกรงนัก
ไม่หาญหัก เข้าผจญ แม้คนกิน
ส่วนข้าเจ้า ทั้งเนื้อตัว กลับกลัวตาย
กลัวเจ็บกาย กลัวจะยาก กลัวจากถิ่น
ในที่สุด ก็ต้องตาย วายชีวิน
แต่คนกิน ไม่ตาย สงสัยนัก
ขอพระองค์ ผู้ทรง พระปรีชา
วิจารณ์หา เหตุให้ ได้ตระหนัก
ตำราทอง ของใคร โปรดได้ซัก
คนรู้จัก ถามดู คงรู้ดี
พระเจ้าพาราณสี ทรงเห็นตามถ้อยคำของพญายูงโพธิสัตว์ ตรัสให้ซักถามความจากนายแพทย์และคนเก่าๆที่สนใจในเรื่องนี้ ก็ได้ความชัดว่า เป็นเรื่องที่ทำขึ้นด้วยจิตไม่เป็นกุศล ก็โปรดให้ลายแผ่นทองคำนั้นเสีย แล้วโปรดถามพญายูงถึงความงามของขนสีทองว่า เป็นผลมาจากอะไร?
พญายูงโพธิสัตว์ทูลว่า เป็นผลของบุญเก่าในชาติก่อนโน้น คือ เมื่อครั้งได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครนี้เอง ได้มั่นอยู่ในศิล ทาน ทุกวันธรรมสวนะได้เสด็จขึ้นรถไปเที่ยวเยี่ยมประชาชน สั่งสอนให้คนทั้งหลายตั้งอยู่ในศิล ครั้นสิ้นพระชนม์แล้ว ได้บังเกิดในสวรรค์ ได้เวียนเกิดเวียนตายเป็นมนุษย์อยู่หลายชาติ ในที่สุด ชาตินี้มาเกิดเป็นนกยูง แต่ด้วยอำนาจผลของศีล จึงทำให้มีขนเป็นสีทองงาม และมีอายุยืน
พระเจ้าพาราณสีไม่ทรงเชื่อว่า ได้มาเป็นกษัตริย์ครองพระนครนี้ ตรัสถามให้หาหลักฐานเป็นพยานยืนยัน
พญายูงทูลว่า รถคันที่ข้าพระองค์เคยทรง ครั้นเป็นมหาราชนั้น บัดนี้ ยังอยู่ใต้ก้นสระโบกขรณี ในพระราชอุทยาน ขอได้โปรดให้คนขุดรื้อดูได้ พระเจ้าพาราณสีก็รับสั่งให้ราชบุรุษขุดรื้อสระโบกขรณีตามคำของพญายูงและก็ได้รถอันประดับด้วยรัตนะมีค่ามาก สมจริงดังคำพญายูงทุกประการ
พระเจ้าพาราณสีพร้อมด้วยอำมาตย์และประชาราษฏร์ เสื่อมใสพญายูง พากันสักการะเป็นอย่างดี พญายูงได้ประกาศคุณของศีลธรรมและเมตตา ให้ชนทั้งหลายเกิดศรัทธาดำรงมั่นอยู่ในศีลธรรมดีแล้ว ก็ทูลอำลาพระเจ้าพาราณสี บินกลับไปสู่ถิ่นของตน

ตำนานอาทิตยสุตตคาถา

ตำนานอาทิตยสุตตคาถา

อาทิตสุตตคาถา นี้ เป็นมนต์สำหรับพระสงฆ์สวดอนุโมทนาในงานทำบุญประจำปีของคฤหัสถ์ตามบ้านเรือนทั่วไปซึ่งโดยมากคนใจบุญ เมื่อระลึกว่าตนทำการงานด้วยความรู้ ความสามารถ ด้วยกำลังแขนทั้งสองข้าง อาบเหงื่อต่างน้ำ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรม เลี้ยงบิดา มารดา บุตร ภรรยา ตลอดญาติมิตร ให้มีความสุขพอสมควรแก่วิสัยแล้ว พอจะบำเพ็ญบุญเลี้ยงภิกษุสามเณรในปีหนึ่งๆได้แล้ว เพื่อเพิ่มพูนบุญส่วนทานบารมีแก่ตน เพื่ออำนวยกุศลบุญสมบัติต่อไปในเบื้องหน้าครั้นนึกถึงเช่นนี้แล้ว ก็เกิดศรัทธาบริจาคทรัพย์ออกจัดอาหารถวายทานตามกำลังของตน เมื่อพระสงฆ์ได้รับอาหารบิณฑบาตอันเป็นกุศลทานในโอกาสเช่นนี้ ย่อมอนุโมทนาด้วยอาทิตสุตตคาถาต่อท้าย ยถา สัพพี เป็นแบบฉบับสืบๆกันมา
อัน อาทิตสุตตคาถานี้ มีเนื้อความตามพระบาลีแสดงถึงอัธยาศัยของคนดีมีน้ำใจงาม มีความประพฤติโอบอ้อมอารี ทั้งมีความกตัญญูกตเวที เมตตาปรานีสมควรแก่สภาพของตน เป็นพระคาถาที่พระทศพลสัมพุทธเจ้า ตรัสแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ปรากฏในพระบาลีมุณฑราชวรรค แห่งปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เรื่องมีว่า
ครั้งหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ณ พระเชตวันวิหาร ถวายนมัสการแล้ว นั่งถวายปฏิบัติอยู่ในที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาตรัสประทานพระโอวาทแก่ท่านอนาถบิณฑิกะว่า คฤหบดีในโลกนี้ คนที่มีการศึกษาดี ได้รับการอบรมดีแล้ว ย่อมถือเอาประโยชน์ ๕ ประการ แต่โภคทรัพย์ที่หาได้ด้วยกำลังแขนทั้ง ๒ ข้าง อาบเหงื่อต่างน้ำ ด้วยความขยันหมั่นเพียรในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรม
ประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการ นั้น คืออะไรเล่า? คฤหบดี ประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนั้น ดังนี้ :-
. เลี้ยงดูตนให้เป็นสุข บำรุงตัวให้บริบูรณ์ ไม่ขาดแคลน รักษาตัวให้เป็นอยู่สะดวกสบาย เท่าที่ควร ตามกำลังทรัพย์ที่หาได้
เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข บำรุงท่านให้บริบูรณ์ไม่ขาดแคลน รักษาท่านให้เป็นอยู่สะดวกสบาย เท่าที่ควร ตามกำลังทรัพย์ที่หาได้
เลี้ยงภรรยา บุตร คนใช้ และคนงาน ให้เป็นสุข ให้บริบูรณ์ไม่ขาดแคลน ให้เป็นอยู่สะดวกสบาย เท่าที่ควร ตามกำลังทรัพย์ที่หาได้
. เลี้ยงดูบุคคลภายนอกที่มีความสัมพันธ์กับตน คือ มิตร ผู้ร่วมใจ ร่วมงาน ร่วมสุขทุกข์ ผู้สนับสนุน เป็นปากเป็นเสียง ให้มีความสุข ให้บริบูรณ์ไม่ขาดแคลน ให้มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย เท่าที่ควร ตามกำลังทรัพย์ที่หาได้
. ป้องกัน รักษาทรัพย์สมบัติจากภัยในที่ต่างๆ คือ ป้องกันอัคคีภัย เช่น จ่ายซื้อเครื่องดับเพลิง ทั้งส่วนตัวประจำบ้าน ทั้งรวมซื้อไว้เป็นส่วนกลาง จ้างคนคอยดูแลรักษา เป็นต้น ป้องกันอุทกภัย เช่นจ้างทำทำนบป้องกันบ่าน้ำ ท่วมเรือกสวนไร่นา เป็นต้น ป้องกันราชภัย เช่น จ่ายปลดเปลื้องมลทินโทษในคราวเกิดคดียังโรงศาล เป็นต้น ป้องกันโจรภัย เช่น จ้างยามอยู่เฝ้ารักษา หรือบำรุงให้กำลังเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานตรวจตรา เป็นต้น ป้องกันทายาทผู้ไม่น่ารัก เป็นศัตรู เช่น ภรรยา บุตร หรือแม้ญาติผู้มีส่วนได้ทรัพย์สมบัติ ประพฤติตนเป็นศัตรู เช่นภรรยาประพฤตินอกใจ บุตรขาดความเคารพ ไม่เชื่อฟัง ดูหมิ่น ไม่รู้จักคุณ ล้างผลาญ อกตัญญู จำพวกที่ร้ายแรงถึงฆ่าบิดามารดา ก็มี เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์ชีพพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดา เป็นตัวอย่าง เรื่องมีว่า
พระนางเทเวหิ อัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร เริ่มทรงพระครรภ์ พระเจ้าอชาตศัตรูปฏิสนธิในพระครรภ์ ในฐานที่พระองค์เป็นรัชทายาท กลับเป็นศัตรูต่อพระชนกปรากฏตั้งแต่ยังมิทันได้ประสูติ คือ พอพระนางเริ่มแพ้ท้อง ก็ทรงอยากเสวยพระโลหิตพระเจ้าพิมพิสาร พระราชสวามีทันที แรกพระนางก็อดพระทัยไว้ ครั้นไม่สมนึกก็ทรงประชวร ครั้นพระราชสวามีรับสั่งถามก็ไม่ทูล ครั้นภายหลังได้รับพระราชทานอภัยให้บอก ก็ทูลตามความรู้สึกที่ผิดประหลาดที่อยากเสวยพระโลหิต ในที่สุดพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงจับพระแสงกรีดพระโลหิตที่พระเพลาให้เสวย พอเป็นยาบำบัดโรคแพ้ท้อง แล้วรับสั่งถามโหราจารย์ว่า พระโอรสในพระครรภ์บของพระนางเทเวหิ จะเกิดเป็นคุณหรือโทษแก่พระองค์ หรือแก่แผ่นดินอย่างไร ? โหรข้างพระที่ได้พยากรณ์ถวายว่า พระกุมารในพระครรภ์จะเป็นศัตรูต่อราชสมบัติ ถึงปลงพระชนม์พระองค์ผู้เป็นพระชนกนาถ เรื่องพระเจ้าพิมพิสารไม่ทรงเชื่อ ด้วยทรงหนักในทางบุญกรรม แต่พระนางเทเวหิเสียพระทัยมาก ถึงกับวันหนึ่งทรงหลบหนีไปพระราชอุทยานที่ลับ พยายามบีบนวดที่พระครรภ์อย่างแรง เพื่อจะให้พระครรภ์แท้งเสีย ด้วยความโทมนัสที่พระโอรสกลับเป็นศัตรูต่อพระราชสวามี พระราชอุทยานนี้ ต่อมาภายหลังได้นามว่า มัททกุจฉิวัน แปลว่า สวนบีบท้อง ครั้งนางสนมแลเห็นรีบนำความมากราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ๆ ได้เสด็จห้ามและขอให้เลิกทำกรรมเช่นนั้น ถึงทรงตรัสพ้อว่า ไม่รักพระองค์ ลูกจะทรยศอย่างหมอทำนายไม่ได้ หากจะเป็นจริง นั่นก็เป็นเวรกรรมของพระองค์อีก ซึ่งใครๆก็ห้ามไม่ได้ มิควรจะร้อนใจ ด่วนตีตนก่อนไข้ไม่ชอบ พระนางเทเวหิต้องระงับความโทมนัส รักษาพระครรภ์จนประสูติพระกุมาร และพระกุมารก็ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงในฐานะสูงสมเกียรติอย่างรัชทายาททุกประการ จนทรงเจริญพระชนมายุโดยลำดับ
และโดยที่พระกุมารมีพระปรีชาสามารถ และมีพระทัยแกล้วกล้าไม่ว่าจะศึกษาวิชาตลอดกลยุทธใดๆ ก็สำเร็จได้ดีเหนือนักศึกษาที่เล่าเรียนร่วมกันหมด ปรากฏว่าไม่มีใครมีฝีมือเทียมทัน และความรู้เท่าถึง จึงได้พระนามว่า อชาตศัตรู แปลว่า ไม่มีศัตรู คือคนชนะพระองค์เกิดขึ้นได้ พระนามาภิธัย ศัพท์นี้ บางท่านแปลว่า เป็นศัตรูตั้งแต่ยังไม่เกิด คือ เป็นศัตรูต่อพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยทำให้พระชนนีแพ้พระครรภ์ถึงได้เสวยพระโลหิตของพระราชสวามี
ครั้นจำเนียรกาลภายหลังทรงเลื่อมใสในพระเทวทัต ยึดเอาพระเทวทัตเป็นครู โดยมิได้ขอพระราชทานอนุมัติพระราชบิดาก่อน ทรงทำตามพระทัยชอบ แทนที่พระบิดาจะทรงจัดหาครูให้ แต่กลับทรงหาเอาเองโทษเพราะไม่เคารพก็เกิดขึ้น โดยที่พระกุมารยังทรงพระเยาว์ก็ย่อมจะเบาพระทัย ไม่ทันได้รอบคอบ โทษประพฤติตามใจตนก็เกิดประดังตามเป็นลำดับ ในที่สุดก็ได้รับแนะนำจากพระเทวทัตให้ชิงราชสมบัติจากพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดา ครั้นราชบุรุษของพระเจ้าพิมพิสารจับได้ พระเจ้าพิมพิสารทรงซักถามถึงวัตถุประสงค์ พระกุมารก็กราบทูลว่า ต้องพระประสงค์จะเป็นกษัตริย์ หากจะรออยู่จนพระบิดาสวรรคตแล้ว อาจสิ้นพระชนม์ก่อน จะมิทันได้เป็นดังปรารถนา พระราชบิดาก็ทรงสถาปนาให้เป็นกษัตริย์ โดยพระองค์ทรงลาออก มอบพระราชสมบัติให้ปกครอง
ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้รับแนะนำจากพระเทวทัต ให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารอีก แต่พระกุมารไม่ยอม เห็นว่าจะเป็นการร้ายแรงแก่พระชนกเกินไป เพราะพระชนกดีต่อพระองค์ทุกประการ พระเทวทัตก็พิรี้พิไรแสดงภัยให้เห็นว่า ถ้าเมื่อใดพระชนกไม่พอพระทัยขึ้น ก็สามารถจะบีบบังคับให้พระราชกุมารออกจากราชสมบัติ พระเจ้าอชาตศัตรูเกิดเห็นตาม แต่ในชั้นแรกเพียงแต่ให้จับพระราชบิดาจำกรุเสีย
ครั้นภายหลังด้วยความพยายามของพระเทวทัตปลุกปั่นแนะนำ ให้ทรมานพระเจ้าพิมพิสารด้วยวิธีให้อดอาหาร ให้เอามีดกรีดพระบาท จนในที่สุดพระเจ้าพิมพิสารต้องสวรรคต เพราะปิตุฆาตกรรมของพรเจ้าอชาตศัตรู เรื่องนี้ถ้าไม่กล่าวถึงบุพพกรรมซึ่งมองเห็นไม่ได้แล้ว ก็ต้องกล่าวถึงโทษของพระเจ้าพิมพิสารที่ไม่ทรงป้องกันทายาทที่จะเป็นศัตรู โดยที่ปล่อยให้พระโอรสหาครูเอาเอง ไม่เลือกคัดจัดครูให้ศึกษา คือปล่อยตามพระทัยพระโอรสผู้ทรงพระเยาว์จนเกินไป ไม่ประพฤติตามโบราณคดีที่ว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้เฆี่ยนจึงเป็นโทษที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ดังนี้
เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสสอนในข้อนี้ว่า ให้จ่ายทรัพย์ป้องกันทายาทที่ไม่น่ารัก ประพฤติตนเป็นศัตรู สำหรับคนที่แสวงหาทรัพย์ได้มาแล้ว ควรจะถือประโยชน์จากทรัพย์ ในข้อนี้ให้สมบูรณ์ด้วย
. ทำพลีกรรม ๕ คือ :-
. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ ซึ่งตกอยู่ในสถานะลำบากต้องการความช่วยเหลือโดยประสบภัยพิบัติต่างๆก็ดี คราวป่วยไข้ก็ดี คราวเข็ญใจก็ดี ไม่ดูหมิ่นดูแคลน ช่วยเหลือตามกำลัง ตามสถานะของตน ให้ญาติได้ความอุ่นใจ มีกำลังใจในอันทำมาหากิน เพื่อดำรงชีพอยู่ในโลกเป็นสุขสืบไป
. อติถิพลี ต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น ด้วยอาหาร ด้วยที่พัก ด้วยโอภาปราศรัย ตามสถานะ
. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ตามประเพณีนิยมของตระกูล เช่น ทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ทำบุญปี ทำบุญในเทศการตรุษ เป็นต้น
. ราชพลี เสียภาษีอากรให้รัฐบาล ตามขนบธรรมเนียม ตามกฏหมายที่รัฐบาลได้ตราขึ้นไว้ เพื่อบำรุงกำลังส่วนรวม เพื่อให้ความมั่นคงสมบูรณ์แก่ประเทศชาติ
. เทวตาพลี บูชาเทวดาอารักษ์ ตามเทวสถานต่างๆ ที่ประชาชนเคารพนับถือ บูชา โดยเฉพาะผู้นิยมบูชาพระภูมิเจ้าที่ ก็จัดเข้าในข้อนี้
. คฤหบดี บรรพชิต สมณพราหมณ์ ผู้ที่เว้นจากความมัวเมา ความประมาท มั่นคงอยู่ในขันติ โสรัจจะ ฝึกตนบ้างสงบตนบ้าง ดับความเศร้าหมองของจิตให้อยู่เย็นเป็นสุขบ้าง มีอยู่ในโลกนี้ ผู้ที่ถือเอาประโยชน์แก่ทรัพย์ย่อมถวายทานี่ดี ประณีตมีสุข เป็นผลนำให้เข้าถึงสวรรค์ได้ ในบรรพชิตสมณพราหมณ์เหล่านั้น นี้เป็นการถือเอาประโยชน์แต่ทรัพย์ข้อที่ ๕
ดูกร คฤหบดี นี้คือการถือเอาประโยชน์แต่ทรัพย์ของคนดี ที่ขยันหมั่นเพียรแสวงทรัพย์มาด้วยความสามารถ ด้วยกำลังแขนทั้ง ๒ ข้าง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ดูกร คฤหบดี ถึงทรัพย์สมบัติจะต้องหมดเปลืองไป เพราะการจ่ายในเรื่องทั้ง ๕ นั้นจริง แต่เขาจะไม่ร้อนใจ เพราะคิดว่า การแสวงหาทรัพย์มาเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นเราได้แล้ว เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ก็จะสบายใจ ไม่ร้อนใจ
ดูกร คฤหบดี ถ้าหากเขาถือเอาประโยชน์แต่ทรัพย์ที่แสวงหามาได้แล้วในเรื่องทั้ง ๕ นั้น ทรัพย์สมบัติได้เจริญขึ้นอีก เขาก็ยิ่งจะสบายใจ เพราะคิดว่า การแสวงหาทรัพย์มา เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นเราได้แล้ว เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็ยิ่งสบายใจ ไม่เดือดร้อน
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณ์ภาษิตจบแล้ว ได้ตรัสคาถาภาษิตรับรองพระโอวาทนั้นประทานแก่คฤหบดี โดยพระบาลีอีกว่า ภุตฺตา โภคา ภตา ภจฺจา เป็นอาทิ ความว่า
เมื่อนรชนหวนระลึกถึงชีวิตของตนที่ดำเนินมาโดยสวัสดีว่า ทรัพย์สมบัติเราก็มีพอได้อาศัยใช้สอยแล้ว คนที่จะเลี้ยงมีบิดา มารดา ภรรยา บุตร เป็นต้น เราก็ได้เลี้ยงแล้ว อันตรายต่างๆ เราก็ได้ข้ามพ้นมาแล้ว บุญทานเราก็ได้ถวายแล้ว สมณะผู้มีศีล เราก็ได้บำรุงพอสมควรแล้ว คนครองเรือนต้องการประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นเราก็ได้แล้ว กรรมที่จะติดตามเผาผลาญให้เดือดร้อนภายหลัง เราก็มิได้กระทำ ครั้นระลึกเช่นนี้แล้ว ( เป็นสุขใจ ) ตั้งมั่นอยู่ในอริยธรรม ย่อมได้รับความสรรเสริญในโลกนี้ แม้เมื่อละจากโลกนี้ ย่อมบรรเทิงในสวรรค์
เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี สดับอนุสาสนีพุทโธวาท ที่สมเด็จพระโลกนาถทรงอนุศาสน์อาทิยสูตรประทานตั้งแต่ต้นจนอวสาน ก็เกิดความเบิกบานซาบซึ้งในมโนรถ ระลึกตามอนุสาสนีพระบรมสุคต ก็ชื่นใจว่าโภคทรัพย์ใดๆที่เราแสวงหา โภคสมบัตินั้นๆ เราก็ได้มาใช้สอยบำบัดทุกข์ บำบัดโศกตามมนุสวิสัย พอให้ชีวิตดำเนินไปเป็นสุข ตามกาลเวลา
ประการหนึ่ง คนที่ได้นามว่า ภัจจา มีบิดามารดา ภรรยา บุตรและคนอาศัย มีคนใช้เป็นที่สุด ซึ่งเป็นคนที่ควรเลี้ยงควรบำรุง ควรอุปถัมภ์เราก็ได้เลี้ยงได้อุปถัมภ์ทั้งเช้าค่ำตามกำลังสถานะไม่ละเว้นตั้งแต่ก่อนๆมา
ประการหนึ่งอันตรายใดๆ ที่เป็นเหตุบีฑาให้เดือดร้อนในที่ต่างๆ หรือเป็นเรื่องขัดขวางทางชีวิตจิตใจสิ้นทั้งปวง ภัยนั้นๆ เราก็ได้ก้าวล่วงแล้วทุกสถาน
ประการหนึ่ง ทักษิณาทานอันเป็นส่วนเบื้องบน ที่สามารถอำนวยผลได้สุขใจทั้งในโลกนี้และในสวรรค์ ทักษิณาทานนั้นๆ เราก็ได้ถวายแล้วตามกาลเวลาด้วยดี
ประการหนึ่ง เบญจพลีกรรม ๕ ประการ มีงานปฏิสันถารต้อนรับแขกผู้มาหา เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนที่ครองเรือนปฏิบัติ ด้วยอัธยาศัยไมตรี ให้เป็นไปด้วยดีตามสถานะ พลีกรรมนั้นๆ เราก็มิได้เลิกละปฏิบัติแล้วทุกประการ
ประการหนึ่ง พระสงฆ์ที่มีสันดานสงบ มีจิตเคารพในธรรมวินัย บำเพ็ญพรตผ่องใสมั่นคงอยู่ในยติเวช ซึ่งเป็นบุญเขตโดยธรรม เราก็ได้อุปถัมภ์ด้วยกุศลจิต เคารพบูชาในฐานะเป็นบรรพชิตในธรรมวินัย
ประการหนึ่ง บาปกรรมใดๆ อันจะเป็นเครื่องตามเผาผลาญให้เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นๆ เราก็ได้ยับยั้งเหนี่ยวรั้งจิต มิได้กระทำตามความคิดโดยผลุนผลันลงไป เป็นทางให้สุขใจทุกๆครั้งที่นึกขึ้นมา
ผู้ครองเรือนแสวงหาโภคทรัพย์ เพื่อต้องการประโยชน์อันใดประโยชน์อันนั้นเราก็ได้สมใจแล้วเป็นอันดี
เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีระลึกตามอนุสาสนีของพระศาสดาจารย์ก็เกิดความเบิกบาน ปีติ ปราโมทย์ในดวงจิต ทูลสรรเสริญพระโอวาทของพระธรรมสามิสรที่ทรงพระเมตตา ตรัสประทานให้เกิดปัญญาหยั่งเห็นเป็นกุศล จึงถวายอภิวาทแทบพระบาทยุคลด้วยความเคารพอย่างสูงสุดแล้วกราบทูลลาพระสัมพุทธวิสุทธิ์โลกเชษฐ์ กลับคืนหลังยังสุทัตตนิเวศน์นิวาสสถาน ขอยุติธรรมบรรหารในอาทิตยสุตตคาถา พอสมควรแก่เวลาด้วยประการฉะนี้
—————————————–

ตำนานอาทิตตปริยายสูตร

ตำนานอาทิตตปริยายสูตร

อาทิตตปริยายสูตร เป็นสูตรสำคัญสูตรหนึ่ง ทั้งเป็นสูตรที่ ๓ ถัดจากมธรรมจักกัปปวัตตนสูตรและอนัตตลักขณะสูตร ลงมา ที่ว่าเป็นสูตรสำคัญ ก็ด้วยเหตุว่า อานุภาพของพระสูตรนี้ได้บันดาลชฎิล ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของมหาชน ในโกศลรัฐ และมคธรัฐเป็นอันมาก ให้บรรลุพระอรหัต และยังได้พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์นั้น เป็นกำลังยังความปรารถนาอันใหญ่หลวง ในการจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในแคว้นมคธรัฐ อันเป็นการใหญ่ยิ่ง ให้สำเร็จได้สมมโนรถของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
อาทิตตปริยายสูตรนี้ เฉพาะพระบาลีพระสงฆ์นิยมสวดในพิธีทำบุญ ๕๐ วัน สำหรับงานศพ เพราะนอกจากงานศพแล้ว ตามบ้านเรือนไม่นิยมสวดกัน ปรกติมีแต่สวดในวัด ความจริง พระสูตรนี้เป็นธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่ผู้มีจิตอันได้รับความอบรมมาพอสมควรก่อนแล้ว ดังนั้น อาทิตตปริยายสูตร จึงเป็นธรรมชั้นสูง ควรแก่ผู้สนใจในธรรมจะพึงสดับ
ดังนั้น จะได้บรรยายถึงความเป็นมาของพุทธมนต์บทนี้ พอเป็นเครื่องเจริญศรัทธาสัมมาปฏิบัติของพุทธบริษัทสืบไป เรื่องมีว่า
เมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกทั้งหลายไปประกาศพระศาสนาแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสป อาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐
ราชคฤห์นครนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น
ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ๆ นั้น ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปะโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานที ตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสป น้องคนกลางมีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล็ก มีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นต่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า ตำบลยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฎิลคณะนี้ทั้งหมด มีทิฐิหนักในการบูชาเพลิง
พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงเข้าไปพบอุรุเวลกัสสปทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลกัสสปรังเกียจ ทำอิดเอื้อน ไม่พอใจให้พักเพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างจากลักธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีที่ให้พัก ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฎิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูลว่า พระองค์อย่าพอใจพักโรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพญานาคมีพิษร้ายแรงทั้งดุร้ายที่สุดอาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้นให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปจะอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาในที่นั้น ก็มีจิตคิดขึ้งเคียดพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้นพระบรมศาสดาทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสะฉวีและเอ็นอัฐิแห่งพญานาคนี้ ระงับเดชพญานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น พญานาคมิอาจจะอดกลั้นความพิโรธได้ ก็บังหวนพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้นพระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการและเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดแสงแดดสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟนั้นให้เป็นเถ้าธุลี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมรอบโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระมหาสมณะนี้สิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพญานาคในที่นี้
ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิ์พญานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า พญานาคนี้สิ้นฤทธิ์แล้ว อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า พระสมณะนี้มีอานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิ์พญานาคใหัอันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา แต่มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า ข้าแต่สมณะ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์
นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติกมาส(เดือน๑๒) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลประเทศจนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลา ๒ เดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ทรมานอุรุเวลกัสสปโดยอเนกประการ อุรุเวลกัสสปก็ยังมสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้นด้วยทิฐิกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง จึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า กัสสป ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกล มิใช่ทางมรรคผลอันใดไฉนเล่าท่านจึงสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้งๆที่ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสปแล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาท รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์และพระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
พระบรมศาสดาตรัสว่า กัสสป ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่าน จงชี้แจงให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะให้บรรพชาอุปสมบทอุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ๆ ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยดาบสบริขาร และเครื่องตกแต่งผม และชฏา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบทสมเด็จพระบรมสุคตาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน
ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสป ผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมา ก็ดำริว่า ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ชฎิล ๒-๓ คน อันเป็นศิษย์ไปสืบดูรู้เหตุแล้ว นทีกัสสปก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์มาสู่สำนักอุรุเวลกัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น ดุจพวกก่อน
ฝ่ายคยากัสสป ผู้เป็นน้องน้อย เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำมา จำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสส ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักอุรุเวลกัสสป ไต่ถามทราบความแล้ว เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสน้ำดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง ที่อุรุเวลกัสสป เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฐิแห่งตนแล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้นว่า
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเล่า ชื่อว่า สิ่งทั้งปวง จักษุ คือนัยน์ตา รูป วิญญาณอาศัยจักษุสัมผัส คือ ความถูกต้องอาศัยจักษุ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง หมวด ๑. โสตะ คือ หู เสียง วิญญาณอาศัยโสตะ สัมผัสอาศัยโสตะ เวทนาที่เกิดเพราะโสตะสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. ฆานะ คือ จมูก กลิ่น วิญญาณอาศัยฆานะ สัมผัสอาศัยฆานะ เวทนาที่เกิดเพราะฆานะสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. ชิวหา คือ ลิ้น รส วิญญาณอาศัยชิวหา สัมผัสอาศัยชิวหา เวทนาที่เกิดเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. กาย โผฏฐัพพะ คือ อารมณ์ที่ถูกต้องด้วยกาย วิญญาณอาศัยกาย สัมผัสอาศัยกาย เวทนาที่เกิดเพราะการสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. มนะ คือ ใจ ธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ วิญญาณอาศัยมานะ สัมผัสอาศัยมนะ เวทนาที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย หมวด ๑. ชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? อะไรมาเผาให้ร้อน ร้อนเพราะไฟ คือความกำหนัด ความโกรธ ความหลง ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ร่ำไรรำพัน เจ็บไข้ เสียใจ คับใจ เรากล่าวว่า ไฟกิเลส ไฟทุกข์ เหล่านี้มาเผาให้ร้อน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ใดฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวงนั้น ตั้งแต่ในจักษุ จนถึงเวทนาที่เกิด เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยเป็นที่สุด เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมปราศจากกำหนัดรักใคร่ เพราะปราศจากกำหนัดรักใคร่ จิตก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ได้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกทั้งหลายทราบชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจที่จำต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอยู่อย่างนี้ไม่มี
เมื่อพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จพระอรหันต์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์พระอรหันต์ บังเกิดขึ้นในโลกอีก ๑,๐๐๐ เป็นกำหนด ด้วยอานุภาพพระพุทธพจน์แห่งอาทิตตปริยายสูตร พุทธมนต์คาถา ยุติบรรยายลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้ .