Saturday, June 11, 2011

ตำนานขันธปริตร

ตำนานขันธปริตร

ขันธปริตร เป็นมนต์บทที่ ๔ ใน ๗ ตำนาน ต่อจากเมตตสูตร อันเป็นมนต์บทที่ ๓ ใจความในเมตตสูตรนั้น แสดงถึงการแผ่เมตตาโดยเฉพาะในภูตผีปีศาจที่ดุร้าย ตลอดเจ้าป่าเจ้าเขา แต่สำหรับขันธปริตรนี้ เป็นเรื่องที่พระบรมศาสดาสอนให้แผ่เมตตาเหมือนกัน แต่โดยเฉพาะให้แผ่เมตตาไปในอสรพิษ คือ งูเงี้ยวที่ดุร้าย
เมื่อกล่าวถึงเรื่องงูร้ายแล้ว ชวนให้นึกถึงความยำเกรง และความนับถือ บูชา งูร้ายหรือพญางู ของชาวอินเดีย
ในสมัยก่อนพุทธกาล ปรากฏว่า ประชาชนยำเกรงนับถืองูกันจริงๆ คนที่มีอานุภาพ เป็นที่เกรงขามของคน จะต้องบังคับงู เลี้ยงงูร้ายได้เชื่อง ใช้งูร้ายเป็นเครื่องส่งเสริมอานุภาพ ให้เป็นที่เกรงขาม สามารถทำให้มหาชนเห็นว่า แม้แต่พญางูยังยำเกรง มีกล่าวไว้ในเรื่องต่างๆมาก เช่น เรื่องรามเกียรติ์ พระนารายณ์มีพญางูเป็นบัลลังก์ คราวเสด็จผทมสินธุ์ก็ผทมเหนือหลังงูใหญ่ ในประเทศอินเดีย จะหาชมภาพเหล่านี้ได้ไม่ยาก แม้ในประเทศเรา จะไปชมได้ที่บ้านผทมสินธุ์ ถนนพิษณุโลก และที่กรมตำรวจปทุมวัน แต่ทั้งสองแห่งนี้ เป็นรูปหล่อ ที่บ้านผทมสินธุ์ เป็นภาพผทมสมชื่อ แต่ที่กรมตำรวจเป็นภาพยืนบนหลังงูใหญ่ ในคตโบสถ์วัดพระแก้ว ( วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ในพระบรมมหาราชวัง เป็นภาพเขียน
ในพระพุทธศาสนา มีเรื่องพระภูริทัต ในทศชาติ ก็เป็นพญางูได้รับยกขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์เป็นพิเศษ เพราะเป็นชาติที่ใกล้จะตรัสรู้บำเพ็ญศีลอุปบารมีเป็นเยี่ยม ในมหานิบาต ไม่ปรากฏว่า ยกสัตว์เดียรัจฉานจำพวกอื่นเป็นพระโพธิสัตว์เลย เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์
แม้ในสมัยพุทธกาล ปรากฏว่า การนับถือพญางูที่ยังนิยมกันอยู่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพระบรมศาสดา ก็มีหลายตอน คือ
. ในตอนตรัสรู้ คราวเสด็จประทับที่ร่มไม้จิก ฝนตก ๗ วัน ๗ คืน พญางูมุจลินท์มีความเลื่อมใส มาทำขนดแผ่พังพานกันลมกันฝนถวายตลอดเวลา
. ในคราวเสด็จโปรดอุรุเวลกัสสป พร้อมด้วยชฎิล ๕๐๐ ก็ได้ทรงบังคับพญานาคราชที่โรงไฟ อันเป็นที่ยำเกรงของชฎิลทั้งหมด ให้ขดลงในบาตร แสดงให้ชฎิลเห็นอานุภาพ แล้วเคารพนับถือ ซึ่งเป็นปฏิหาริย์ครั้งแรก ที่ทรงแสดงให้เห็นเป็นอัศจรรย์
. คราวเสด็จไปโปรดอัคคิทัตฤๅษี พร้อมด้วยบริวาร ก็ได้ทรงให้พระมหาโมคคัลลานะไปทรมานพญางูอหิฉัตตะ ซึ่งเป็นที่นับถือของฤๅษีเหล่านั้นให้หมดพยศยอมอยู่ในอำนาจ ทำให้ฤๅษีเห็นเป็นอัศจรรย์ ยอมนับถือบูชา
. คราวทรมานพญางูนันโทปนันทะ ซึ่งดุร้าย ปรากฏว่าเป็นที่เกรงขามทั้งมนุษย์และเทวดา ให้หมดพยศลดความดุร้าย ได้ผลเป็นอัศจรรย์ เรียกร้องความเชื่อความเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา จากมหาชนเป็นอันมาก
. เมื่อพระเทวทัตแสวงหาอำนาจ คราวใช้อุบายเอาอชาตสัตตุราชกุมารเข้ามาเป็นศิษย์ ก็จำแลงรูปเป็นมานพหนุ่มน้อย แต่มีงูร้ายเป็นสังวาลพันตัว น่าเกรงขาม เข้าไปหาอชาตสัตตุราชกุมารถึงในที่ประทับ พระราชกุมารก็เลื่อมใส ยำเกรง ยอมตนเป็นศิษย์ทันที
. มนอาฏานาฏิยสูตร ก็แสดงถึงน่านน้ำในมหาสมุทรทั้งหลาย เป็นผืนน้ำที่ใหญ่ยิ่งกว่าผืนดิน น่านน้ำท ั้งหมดนั้น ก็มีพญางูวิรูปักข์เป็นใหญ่ปกครอง มีอานุภาพเป็นที่เกรงขามของมวลสัตว์น้ำสิ้นเชิง
ทราบว่า แม้ในปัจจุบันนี้ ในประเทศอินเดีย ชาวฮินดูก็ยังนับถือเลื่อมใสในอานุภาพของงูร้ายอยู่ไม่น้อย เขาไม่พอใจทำร้าย ดูเหมือนในที่อื่น วิธีนี้เข้ากับแนวพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ที่สอนไม่ให้ทำร้ายสัตว์ ตรัสสอนให้แผ่เมตตาจิตในสัตว์ร้าย เช่น งูร้าย เป็นต้น หากมีความกลัวงูร้ายจะขบกัด พระบรมศาสดาก็ตรัสมนต์ป้องกันงูร้ายประทานไว้ด้วย เรียกว่า ขันธปริตร แปลว่า มนต์ป้องกันตัว ขันธปริตรนี้ เป็นนิคมคาถามาในบาลีอหิราชสูตร พระสูตรนี้ มีตำนานเล่าไว้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูร้ายกัด และมรณภาพลงด้วยพิษงูนั้น ข่าวนี้ได้กระทำให้พระเป็นอันมากสดุ้งกลัวต่อภัยนี้ พร้อมกับสลดใจในมรณภาพของภิกษุรูปนั้น ดังนั้น จึงพร้อมกันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดายังที่ประทับ แล้วกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย งูไม่น่าจะกัดพระ เพราะโดยปกติ พระย่อมอยู่ด้วยเมตตา ชรอยพระรูปนั้นจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังพญางูทั้ง ๔ เหล่าเป็นแน่แท้ จึงต้องทำกาลกิริยาด้วยพิษงูร้าย
หากภิกษุจึงพึงแผ่เมตตาไปในพญางูทั้ง ๔ ตระกูลแล้ว เธอจะไม่ถูกงูประทุษร้ายเลย
ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นั้น คือ ตระกูลวิรูปักข์ ตระกูลเอราบท ตระกูลฉัพยาบุตร และตระกูลกัณหาโคตมะ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตัว เพื่อป้องกันตัวต่อไปครั้นรับสั่งดังนี้แล้ว จึงได้ตรัส ขันธปริตร มนต์ป้องกันตัว ประทานภิกษุทั้งหลาย
จำเดิมแต่นั้นมา ขันธปริตร ก็เกิดเป็นมนต์ศักดิ์สิทธิ์ป้องกันชีวิตให้บุคคลที่มีใจมั่นคง กอร์ปด้วยเมตตาจิตตั้งใจภาวนา พ้นจากการบีฑาของเหล่างูร้าย สัตว์ร้าย ตลอดถึงภูตผีที่ดุร้ายทุกสถาน ฯ.
———————————————————–
ถึงเรียนดี รู้ดีทวีงาน ถ้าใจพาลแล้วก็ร้าย ไม่ให้คุณ.

No comments:

Post a Comment