Saturday, June 11, 2011

ตำนานกรณียเมตตสูตร

กรณียเมตตสูตร เป็นพุทธมนต์บทที่ ๓ ใน ๗ ตำนาน พระพุทธมนต์บทนี้ ประกาศเมตตาธรรม สอนให้ทุกคนตลอดสัตว์และทั่วไปถึงพวกอทิสสมานนิการ คือ พวกไม่ปรากฏรูป เช่น เทวดา ภูตผี เป็นต้น ให้มีเมตตาต่อกัน ปรารถนาความสุข ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่กัน เว้นการเบียดเบียนกัน ทำกิจทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของกันและกัน ดังนั้น พุทธมนต์นี้ จึงทรงอานุภาพควรแก่การคารวะยิ่งนัก กรณียเมตตาสูตร เป็นอาวุธเล่มหนึ่ง ที่เรียกว่า พุทธวุธ พระบรมศาสดาพอพระทัยประทานสาวก คราวเข้าไปในแดนอมนุษย์ที่ดุร้าย เพื่อป้องกันรักษาความปลอดภัยเนืองๆ ฉะนั้น พระพุทธมนต์นี้ จึงทรงอานุภาพควรแก่การศึกษาท่องบ่น และเจริญเป็นเนืองนิตย์
ในพระฝ่ายอรัญญวาสี จำพวกอยู่ป่าก็ดี พวกพระรุกขมูลถือธุดงค์ก็ดี นิยมเจริญกรณียเมตตสูตรเป็นประจำ ทราบว่าเมื่อเดินทางผ่านเทวสถาน คือ ศาลเจ้า ของเจ้าป่า เจ้าเขาใดๆเช่น ศาลเจ้าพ่อเขาตก ทางไปพระพุทธบาทเมืองสระบุรี ซึ่งถ้าเป็นคฤหัสถ์ ทุกคนจะต้องเคารพบูชา แต่สำหรับพระท่านสอนให้เจริญ เมตตัญคำว่า ให้เจริญเมตตัญก็คือสอนให้สวด กรณียเมตตสูตร หรือ สวด เมตญฺจสพฺพโลกสุมึ ฯลฯ อันเป็นคาถาอยู่ในตอนกลางของกรณียเมตตสูตรนั่นเอง สุดแต่เวลาจะอำนวยให้
ความจริงนั้น เมตตาธรรมนี้ ควรเจริญให้มาก เพราะผู้ที่จำเริญเมตตา พระบรมศาสดาตรัสว่า จะได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการ ตามที่ทรงประทานไว้ใน เมตตานิสังสสูตร ว่า
. หลับเป็นสุข
. ตื่นเป็นสุข
. ไม่ฝันร้าย
. เป็นที่รักใคร่ของหมู่มนุษย์
. เป็นที่รักใคร่แม้แต่มนุษย์ ตลอดสัตว์เดียรัจฉาน
. เทวดารักษา
. ย่อมล่วงพ้นยาพิษศัตราวุธได้
. เจริญสมาธิได้รวดเร็ว
. หน้าตาย่อมผ่องใส
๑๐. มีสติไม่หลงในเวลาสิ้นชีวิต
๑๑. เมื่อดับชีวิตแล้ว จะไปเสวย ความสุขในพรหมโลก
เพราะฉะนั้น จึงควรตั้งใจเจริญและสดับตรับฟังให้มาก เรื่องราวอันเป็นทางมาแห่งพระพุทธมนต์นี้ ควรทราบเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะเพิ่มพูนบารมีไว้ด้วย เพราะเมตตาเป็นบารมีหนึ่งในบารมีสิบ
พระสูตรนี้ มีตำนานเล่าไว้ว่า :-
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับยังพระเชตวันมหาวิหารในพระนครสาวัตถี มีภิกษุ ๕๐๐ รูป เรียนกัมมัฏฐานในพุทธสำนักแล้ว ทูลลาจาริกไปในชนบท เพื่อหาสถานที่บำเพ็ญสมณธรรม ผ่านทางไกลไปหลายโยชน์ ก็ถึงตำบลใหญ่ตำบลหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากป่านัก ชาวบ้านพากันปฏิสันถารเป็นอันดี แล้วเรียนถามท่านว่า
นี่ พระคุณเจ้า จะพากันไปไหน ขอรับ
หาที่เจริญสมณธรรมให้ผาสุกสักแห่งหนึ่ง อุบาสกท่านอาจารย์ตอบ
ท่านผู้ใหญ่ในบ้านนั้นเรียนท่านว่าถ้าพระคุณเจ้าต้องประสงค์สถานที่เช่นนั้นละก้อ ไพรสณฑ์เชิงภูผานี้เป็นเหมาะมากเที่ยวท่าน เพราะไม่ไกลหมู่บ้าน พอมาพอไปหากันได้สะดวก เช่นพระคณท่านจะมาบิณฑบาตก็ไม่ไกล ผมจะไปนมัสการบ้างก็ไม่ยาก
พอท่านผู้ใหญ่บ้านเว้นระยะคำพูด เพื่อฟังความเห็นของพระ คนใจบุญหลายท่านก็ช่วยกันเสริมอีกว่าอย่าลังเลใจเลยพระคุณท่าน นิมนต์อยู่เสียที่นี่แหละ ถ้าพระคุณท่านอยู่ พวกผมจะได้มีโอกาสถวายทานรักษาศีล และฟังธรรมในสำนักพระคุณท่านบ้าง
เมื่อพูดถูกใจเช่นนั้น พระทุกรูปก็ยินดี ครั้นท่านอาจารย์ผู้นำคณะเห็นเพื่อนพระพอใจอยู่เป็นเอกฉันท์ ก็รับนิมนต์ของขาวบ้าน พากันไปอยู่ในไพรสณฑ์ ตามความผาสุก
ครั้งนั้น เทวดาพวกเจ้าป่าเจ้าเขาในไพรสณฑ์นั้น ซุบซิบกันว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มีศีล เมื่อเข้ามาพำนักอยู่จะทำให้เราลำบากในการย้ายที่ ด้วยเราจะอยู่ข้างบนก็ไม่ควร จะอยู่ข้างล่างก็ลำบาก จะทำอย่างไรดีหนอ
ท่านไม่อยู่นานหรอกน่าเทพย์ตนหนึ่งออกความเห็น คงจะอยู่รับฉลองศรัทธาของชาวบ้านนี้ สักวันสองวันก็คงจะไปเทพย์ตนหนึ่ง ตัดบทว่า
คอยดูไปก็แล้วกัน จะมาปรารมภ์ไปก่อนทำไม
ครั้งล่วงไปสองสามวัน เทวดายังไม่เห็นทีท่าว่าพระจะไปจากที่นั้นเลย ตรงข้ามกลับเห็นทำทีว่า จะอยู่กันแรมปี ดังนั้น ก็ตกใจ พากันปรับทุกข์ว่า ไม่ไหวแล้ว ต่อไปนี้ พวกเราจะไม่มีความสุข
อะไร ทำขี้แยไปได้เทพย์ตนหนึ่งพูดระงับเสียงบ่น
แล้วจะทำอย่างไรอีกตนหนึ่งกล่าวเป็นเชิงหารือ
เราจะให้ท่านไปเสียก็หมดเรื่อง เมื่อเราไม่พอใจให้ท่านอยู่
จะทำอย่างไร ท่านจึงจะไปเล่า ข้าพเจ้าต้องการทราบ
เอาอย่างนี้ก็แล้วกันเทพย์ตนนั้นออกความเห็น คือพวกเราช่วยกันแสดงอาการเป็นภูตผี หลอกหลอนให้หลายๆอย่าง ทุกอย่างที่จะทำให้พระเหล่านี้กลัว เห็นเป็นภัย อยู่ไม่มีความสุข ผลเดือดร้อนก็ประจักษ์แก่พระทั้งหลาย ด้วยอำนาจของเทพย์เหล่านั้นทันที
ผมไม่สบาย ไอเหลือเกินรูปหนึ่งกล่าว ผมก็จามไม่หยุด ผมก็นอนไม่หลับ ผมถูกผีหลอก เห็นเดินผ่านมาไม่มีหัว เมื่อกี้เห็นผีกระพันธ์ น่ากลัวเหลือเกินรูปหนึ่งว่า ที่ชายป่าโน้น เสียงอมนุษย์ร้อยโหยหวล น่าหวาดเสียว เสียงเยือกเย็น ขนลุกขนพอง
พระทั้งหลายนั่งไม่ติด อยู่ตามลำพังไม่ได้ งานกัมมัฏฐานล้ม ต้องเลี่ยงเข้ามาจับกลุ่มซุบซิบกัน
พวกเราอยู่ไม่ได้แน่ ถ้าเป็นรูปนี้ ขืนอยู่ก็จะตกใจตายเท่านั้นเมื่อพระทั้งหมดสิ้นศรัทธาอยู่เช่นนั้น ก็พร้อมกันลาชาวบ้านตำบลนั้นกลับพระนครสาวัตถี เข้าเฝ้าถวายบังคมพระบรมศาสดา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่าเธอเพิ่งไปไม่นาน ไฉนรีบกลับกันมาเสียเล่าภิกษุ
ไม่มีความสุขพระเจ้าข้า
บิณฑบาตลำบากหรือทรงรับสั่งด้วยความเอ็นดู
มิได้พระเจ้าข้า บิณฑบาตสะดวก แต่ภูติผีปีศาจรบกวนเหลือทน จึงรีบกลับ
พระบรมศาสดารับสั่งว่า ควรจะไปอยู่ที่นั่นแหละภิกษุ เมื่อเสนาสนะและอาหารเป็นที่สะดวกสบายดีแล้ว
ไม่กล้าพระเจ้าข้า
ไปเถอะภิกษุทรงรับสั่งด้วยความปรานี ตถาคตจะให้อาวุธ เมื่อเธอถืออาวุธของตถาคตไปอยู่ที่นั่นแล้วจะมีความสุข
ครั้นทรงเห็นภิกษุทั้งหลายพอใจ ในอาวุธที่จะประทาน และเกิดความอาจหาญจะกลับไปอยู่ในไพรสณฑ์นั้นอีก ก็ประทานกรณียเมตตสูตรให้พระเหล่านั้นเรียน จนขื้นปากขึ้นใจแล้ว ทรงรับสั่งว่า
ไปเถอะ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อไปถึงแล้วจงตั้งเมตตาจิต ปฏิบัติตามที่ตถาคตบอกให้ทุกประการ
ภิกษุทั้งหลายชื่นใจ ในพระมหากรุณาที่ทรงประทาน พากันถวายบังคมลา จาริกไปยังไพรสณฑ์นั้นอีก แต่ก่อนจะเข้าถึงประตูป่า พระทั้งหมด ก็ตั้งกัลยาณจิตประกอบด้วยเมตตา ระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ เจริญพระพุทธมนต์ กรณียเมตตสูตร อันเป็นอาวุธพิเศษที่พระศาสดาประทานมา แม้เมื่อเข้าไปในไพรสณฑ์ ก็เจริญพุทธมนต์นี้อีก
ด้วยอานุภาพ กรณียเมตตสูตร ที่พระทั้งหลายเจริญในเวลานั้น ได้ทำให้เหล่าเทวดาเจ้าป่าเจ้าเขา มีใจเมตตารักใคร่พระทั้งหลาย พากันออกมาต้อนรับด้วยเพศอุบาสกอุบาสิกาเป็นอันดี ทั้งยังช่วยให้ความอารักขาอีกด้วย ทุกอย่างสงบเรียบร้อยที่สุด แม้เสียงร้อนอันก่อให้เกิดความรำคาญก็ไม่มีแม้แต่น้อย
ภิกษุทั้งหลายได้ความสงัด อันเป็นทางแห่งความสงบ เจริญกัมมัฏฐานอยู่ไม่นาน ก็บรรลุผลที่ปรารถนาทุกรูป ฯ.
————————————–
ศีล ๕
จะดัดแปลง แต่งอันใด แต่งไปเถิด
แต่อย่าเกิด ดัดแปลง แต่งศีลห้า
ลดให้หย่อน ผ่อนให้เขา เพลาลงมา
หน่อยเมื่อหน้า จะเข้าใจ ภัยร้ายเอย.
ธรรมสาธก

No comments:

Post a Comment