Saturday, June 11, 2011

ตำนานองคุลีมาร - โพชฌงคปริตร

ตำนานอังคุลิมาล

ตำนานอังคุลิมาลปริตร
และ
ตำนานโพชฌงคปริตร

อังคุลิมาลปริตร และ โพชฌงคปริตร ที่ต้องสวดรวมกันนั้น เพราะว่า อังคุลิมาลปริตร และปริตรน้อย มีบาลีที่จะสาธยายเพียง ๓ บันทัดเท่านั้น แต่เป็นพระปริตรที่ทรงอานุภาพในทางบำบัดความป่วยไข้โดยตรง เหมือนโพชฌงคปริตร ดังนั้น พระโบราณาจารย์ จึงนิยมให้สวดรวมเข้ากับโพชฌงคปริตร ซึ่งมีเหตุและวัตถุประสงค์ตรงกัน และนับเป็นตำนานที่ ๗ ตำนานสุดท้ายของสวดมนต์ ๗ ตำนาน
ความจริง พระธรรมนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแสดงไว้เพื่อบำบัดโรคในร่างกายเลย พระองค์ทรงแสดงเพื่อบำบัดโรคจิตโรคใจโดยแท้ ถ้าหาไม่แล้ว ไฉนในคราวพระองค์ทรงพระประชวร จะเสวยพระโอสถบำบัดโรคด้วยเล่า ทั้งยังทรงสอนให้พระสาวกฉันเภสัชบำบัดความป่วยไข้คราวอาพาธไว้หลายประการ
ปกติ โรคกาย โรคใจ ทั้งสองนี้ ดูคล้ายๆกับจะเป็นเกลอแก้วเกลอขวัญกัน ร่วมมือบีบคั้นมนุษย์ให้ทรุดโทรมเป็นทุกขเวทนาน่าสงสาร เสียจริงๆ ดูพอเป็นโรคใจเท่านั้น ร่ายกายก็อ่อนเปลี้ย ดูจะเป็นง่อยเปลี้ยหมดกำลังวังชา ร่างกายก็พลอยมีโรคขึ้น ทั้งดูท่าทีน่ากลัวอายุจะสั้นเอาเสียด้วย ถึงจะกินยาก็ไม่หาย เสียเงินเปล่า แต่ครั้นได้รับการเยียวยาด้วยธรรมโอสถ แก้โรคใจให้หายดี มีกำลังเป็นปกติแล้ว โรคทางกายก็พลอยหายวันหายคืนไปด้วย ดูไม่กี่วันก็มีเรี่ยวแรงเป็นปกติ โดยไม่ต้องกินยาเลย
นี้แสดงว่า โรคใจมีพิษสงและความสำคัญไม่แพ้โรคกายเลย ทั้งเป็นโรคมีประจำใจทุกคน เท่าๆกับโรคกายมีประจำกายทุกๆคนเช่นกัน ดังนั้น การมีแพทย์รักษาโรคใจ จึงเป็นความจำเป็นเท่าๆกับการมีแพทย์ รักษาโรคกาย คนที่มีการศึกษาดีแล้ว จึงเคารพ นับถือ ยกย่องนายแพทย์ทั้ง ๒ ประเภทนี้ ทั้งสนับสนุนให้เกียรติในสังคมทั่วไป
แต่ประหลาดอยู่ประการหนึ่ง ที่โอสถสำหรับบำบัดโรคทางกายก็ใช้บำบัดโรคทางกายอย่างเดียว จะนำไปรักษาโรคทางใจไม่ได้ ถ้าจะใช้เพียงเป็นส่วนประกอบพอได้ ส่วนธรรมโอสถ ที่รักษาโรคใจ กลับมีอานุภาพช่วยรักษาโรคทางกายโดยตรงและโดยอ้อมได้ อย่างน้อยก็ยังจัดเข้าเป็นกระสายแซกผสม ช่วยเพิ่มฤทธิ์ยาภายนอกให้มีคุณวิเศษขึ้นอย่างประหลาด กับเป็นข้ออัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง ที่หมอรักษาโรคทางกาย แม้จะสามารถปานใดก็ตาม ในที่สุดก็ต้องตายเพราะโรคทางกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่หมอเองรักษาไม่ได้ สุดมือ เข้าหลักว่า หมองูตายเพราะงู แต่ส่วนหมอรักษาโรคทางใจที่สามารถดีแล้ว จะไม่ถูกโรคใจบีบคั้นเลย จะไม่เป็นไข้ใจ และไม่ตายเพราะโรคใจ เป็นอันขาด
เช่น พระบรมศาสดา เป็นประหนึ่งว่ายอดของแพทย์รักษาโรคใจ ชั้น๑ ไม่ปรากฏว่า มีโรคใจอันใดเบียดเบียนพระองค์เลย ส่วนหมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้เป็นยอดของแพทย์รักษาโรคกายในสมัยนั้น ในที่สุดก็ถูกโรคทางกายบีบคั้น สุดวิชาของท่าน และถึงอวสานสุดสิ้นชีวิตของท่านลงด้วยโรคกายนั้นเอง
ดังนั้น ธรรมโอสถที่รักษาโรคทางใจโดยตรง แต่เกิดปรากฏคุณแก่ผู้ประสบมาแล้วมากต่อมาก ว่าช่วยรักษาโรคทางกายได้ด้วย จึงได้รับความยกย่องนับถือจากประชุมชน ผู้ยังมีโรคกายโรคใจเบียดเบียนอยู่ไม่ขาด พากันไปเคารพบูชา ทั้งนี้ ได้ประจักษ์มาแล้วแต่สมัยต้นพุทธกาล จนเป็นมาตรฐานให้ประชาชนเคารพรับปฏิบัติสืบมา แม้แต่จะปรุงยา ก็ปรากฏว่า บางขนาน ต้อง
. ลงอักขระในตัวยา ดังตัวอย่าง เช่น ยาอายุวัฒนะ ของพระยาเดโช ว่าหัวเข่าค่าสี่หัวเป็นตัวแรง อาจารย์แจ้งวิธีทำไม่อำความ ลงด้วย ทุ ส ม นิ สติตั้ง จงทุกครั้งทุกคราอย่าหยาบหยามเป็นต้น
. ลงใบไม้ใส่ก้นหม้อรองยา
. อธิษฐานจิต ประมวลยาใส่หม้อด้วย สกฺกตฺวา ๓ จบ
. ลงยันต์ต่างๆ เช่น ยันตรีสิงเห ผูกสายสิญจน์ ล้อมเตาล้ม
. ลงใบไม้หรือผ้าผูกปากหม้อยา
. ทำเฉลวรูปยันต์กลัดปากหม้อ
. ลงดุ้นฟืนต้มยา
. เวลารับประทานยังภาวนาอีก
. ลงอักขระที่ครก สาก ในการทำยาผง ยาเม็ด
๑๐. จุดธูป เทียน บูชา และบริกรรมในเวลาบดก็มี
ทั้งนี้ทั้งนั้น ล้วนแต่เห็นว่า ธรรมโอสถ ไม่แต่จะรักษาโรคใจอย่างเดียว ยังเป็นคุณช่วยส่งเสริมกำลังฤทธิ์ยาสมุนไพร ให้เกิดอานุภาพพิเศษ บำบัดโรคได้ฉมังอีกด้วย
อนึ่ง ในบางสถานที่หรือบางท่าน นิยมใช้พระธรรมโอสถ เป็นยาบำบัดโรคทางกายโดยตรงที่เดียวก็มี เช่น ทำน้ำมนต์ ปะ พรม และอาบกิน บำบัดโรคบางชนิดบ้าง หุงน้ำมันมนต์ สำหรับทา และนวดบ้าง โดยเฉพาะนิยมใช้บริกรรม เป่า พ่น กันก็มี วิธีนี้ปรากฏว่า มีนิยมทำกันมาแม้แต่สมัยพุทธกาลแล้ว ดังต้นเหตุแห่งการบังเกิดขึ้นแห่งอังคุลิมาล ปริตรนี้
อังคุลิมาลปริตร แปลว่า พระปริตรของพระองคุลิมาลเถรเจ้า มีตำนานเล่าไว้ว่า พระเถรเจ้าผู้วิเศษองค์นี้ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในเอตทัคคสถาน คือเป็นยอดของสาวกองค์หนึ่งในมหาสาวก ๘๐ องค์
ก่อนที่ท่านยังมิได้ออกบวช ชื่อ อหิงสกะ เป็นบุตรราชปุโรหิตของพระเจ้ากรุงโกศล มีการศึกษาดี ต่อมามีความเห็นผิด กลายเป็นโจรร้าย ฆ่าคนนับจำนวนร้อย เป็นที่เกรงขามของคนเป็นอันมาก ฆ่าแล้วตัดเอานิ้วมือคนละหนึ่งนิ้ว ร้อยเข้าเป็นพวงแขวนคอ เพื่อจะเอาไปทำพิธีชุบตัวให้วิเศษ คนจึงได้ขนามนามว่า องคุลิมาลโจร แปลว่า โจรมีมาลัยนิ้วมือ ภายหลังพระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณาเสด็จไปทรมานองคุลีมาลโจรในป่า ให้หมดพยศร้าย ยอมตัวเป็นศิษย์ ออกบวช บรรลุ พระอรหันต์จึงได้นามว่า องคุลิมาลเถระ
แต่เพราะบวชไม่นาน บรรลุอริยผลเบื้องสูง มีคนรู้ดีน้อยคน รู้แต่ข่าวเพียงออกบวช บ้างก็ลือไปในแง่อกุศลว่า ปลอมบวชเพื่อฆ่าคนดังนั้น วันหนึ่ง พระเถรเจ้าออกบิณฑบาต ผู้คนแตกตื่นวิ่งหนีด้วยความกลัว ท่านไม่ได้อาหารเลย ซ้ำสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่ วิ่งหนีสดุดก่อหญ้าล้มลง บังเกิดทุกข์เวทนาในครรภ์ ทุรนทุรายลำบากอย่างน่าสงสาร อุบาสกที่รู้จักท่าน ได้ขอร้องให้ท่านเอ็นดูช่วยอนุเคราะห์บำบัดทุกขเวทนาให้สตรีผู้เคราะห์ร้ายนั้นด้วย
พระเถระเจ้าสงสาร แต่เพราะท่านมิได้เป็นหมอยาจึงต้องใช้ธรรมโอสถ โดยนั่งลงบนแผ่นศิลา ณ ที่นั้น แล้วตั้งเมตตาจิต กระทำสัจจกิริยา ขออานุภาพอริยธรรมที่ท่านได้บรรลุมา บำบัดทุกขเวทนา ให้สตรีผู้นั้นประสบความสวัสดีในการคลอดด้วย พอท่านกล่าวพระปริตรนี้จบลง สตรีคนนั้นก็มีความสบายหายจากความเจ็บ และคลอดบุตรโดยสวัสดีในทันใดนั่นเอง
อานุภาพพระปริตรที่พระเถระกล่าวนั้น ยังสามารถทำให้แผ่นหินที่ท่านนั่งนั้น มีสภาพเหมือนองค์ท่านอีกด้วย ทราบว่า ต่อมาใครจะเจ็บครรภ์ คลอดบุตร ก็มีผู้ไปสักการบูชา เอาน้ำล้างแผ่นหินนั้นมาให้คนเจ็บครรภ์ ดื่มและปะพรม สามารถทำให้คลอดบุตรง่ายดาย ผู้คนเล่าลือนับถือกันมาจนบัดนี้ เพราะฉะนั้น พระปริตรบทนี้ จึงเป็นที่นิยมนับถือจัดไว้ในเจ็ดตำนาน ให้พระสงฆ์สวดในงานมงคลสืบมา
ส่วนโพชณงคปริตรนั้น แปลว่า พระปริตรของธรรมเครื่องตรัสรู้ ซึ่งเป็นธรรมวิเศษปกรณ์หนึ่ง เป็นพระปริตรที่คนไทยนิยมใช้สวดต่ออายุ ส่วนมากปรากฏในหมู่คนไทยทั่วๆไป ถ้าผู้ใหญ่ของเราป่วยมาก มันจะไปอาราธนาพระสงฆ์มาสวดโพชฌงค์ปริตร แต่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า โพชฌงค์ ต้นเหตุที่นับถือเช่นนั้น คงจะเชื่อถือตามอานุภาพของโพชฌงค์ที่ประจักษ์ตามเรื่องที่บังเกิดขึ้น เหมือนพระปริตรบทอื่นนั่นเอง ก็มีตำนานเล่าไว้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่า พระมหากัสสปเถรเจ้า และพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้าอาพาธ ก็เสด็จไปเยี่ยม ครั้งรับสั่งถามถึงอาการของโรคและความรู้สึกผู้อาพาธ ได้ทรงพระมหากรุณา ตรัสโพชฌงคสูตรประทานให้เถระทั้ง ๒ ฟัง เมื่อจบโพชฌงคสูตรแล้ว พระเถรเจ้าทั้งสองก็หายจากอาพาธด้วยอำนาจของพระพุทธโอสถบทนี้ พระสาวกทั้งหลายเลื่อมใสทูลขอประทานเรียนพระพุทธมนต์บทนี้ไว้ทั่วกัน
ต่อมาครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประชวร จึงรับสั่งให้พระจุนทะเถรเจ้า ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก สวดโพชฌงคสูตรบทนี้ต่อพระพักตร์ พระเถรเจ้าก็สวดถวายให้ทรงสดับตามพระพุทธประสงค์ เมื่อสุดกระแสเสียงสาธยายโพชฌงคสูตรลง ก็บังเกิดเป็นอัศจรรย์ บันดาลให้พระบรมศาสดาทรงหายประชวร และทรงผาสุกเป็นปกติ
เรื่องนี้แสดงว่า ขึ้นชื่อว่า ยาดี นั้น ต้องดีในตัวยาเอง ใครๆ เป็นไข้กินก็หาย แม้หมอผู้ปรุงยานั้นจะเป็นไข้ กินก็หาย ดังเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ ด้วยเหตุนั้นจึงนิยมให้สวดในงานมงคล ถือเป็นคุณเครื่องบำบัดโรคเจริญอายุให้ยืนนานด้วย

No comments:

Post a Comment